เตือนระวังมิจฉาชีพ แฮ็กอีเมลผู้ส่งออกหลอกโอนเงิน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เตือนระวังมิจฉาชีพ แฮ็กอีเมลผู้ส่งออกหลอกโอนเงิน

Date Time: 30 พ.ย. 2563 06:01 น.

Summary

  • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตือนระวังกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง แฮ็กอีเมลผู้ส่งออกไทย ส่งไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ หลอกให้โอนเงินค่าสินค้าไปที่บัญชีธนาคารมิจฉาชีพ ลูกค้าบางรายหลงเชื่อ

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตือนระวังกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง แฮ็กอีเมลผู้ส่งออกไทย ส่งไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ หลอกให้โอนเงินค่าสินค้าไปที่บัญชีธนาคารมิจฉาชีพ ลูกค้าบางรายหลงเชื่อ สูญเงินจำนวนมาก แนะตรวจสอบความน่าเชื่อถือคู่ค้า อีเมล เว็บไซต์ ข้อมูลธุรกิจให้ดีก่อนทำธุรกิจร่วมกัน

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดทำข้อมูลแนวทางในการดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงโดยผู้ไม่หวังดีทั้งที่เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ในลักษณะของแบนเนอร์ในหน้าแรกของเว็บไซต์กรมที่ www.ditp.go.th เพื่อเตือนภัยผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้ซื้อสินค้าจากไทย ไม่ให้ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง จนได้รับความเสียหาย และสูญเงินจำนวนมาก

“ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพแฮ็กเข้าไปในอีเมลของผู้ส่งออกไทยจำนวนมาก แล้วใช้อีเมลนั้น ติดต่อไปยังอีเมลของผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสินค้าไทย ที่เป็นคู่ค้าของผู้ส่งออกรายที่ถูกแฮ็กอีเมล ให้โอนเงินค่าซื้อสินค้าไปยังบัญชีธนาคารอื่นของมิจฉาชีพ ที่ไม่ใช่บัญชีของผู้ส่งออก ทำให้ผู้ซื้อหลงเชื่อและโอนเงินไปยังบัญชีของมิจฉาชีพ ทำให้ถูกหลอกเงินจำนวนมาก และยังทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหาย กรมจึงได้ออกประกาศเตือนเพื่อไม่ให้ถูกหลอก และตรวจสอบคู่ค้าให้ดีก่อนหากมีข้อสงสัยขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนโทร.1169 หรืออีเมล ditpservicecenter@gmail.com

นายสมเด็จกล่าวว่า หากไม่มั่นใจในความน่าเชื่อถือของคู่ค้าที่จะทำธุรกิจด้วย หรือหากได้รับอีเมลในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อนดำเนินธุรกิจทุกครั้ง โดยตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าของไทยได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และตรวจสอบว่าเป็นสมาชิกผู้ส่งออกของกรมหรือไม่ ได้ที่ DITP Exporter List แต่ถ้าจะตรวจสอบข้อมูลคู่ค้าต่างชาติ ตรวจสอบโดยตรงกับสํานักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 59 แห่งทั่วโลกได้

นอกจากนี้ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ หรืออีเมลที่ใช้ติดต่อก่อนทําธุรกรรมทุกครั้ง โดยตรวจสอบเว็บไซต์จริงหรือหลอกลวงได้ที่ Scamadviser หรือตรวจสอบหัวอีเมลได้ที่ How to See Email Headers หรือเข้าไปที่เว็บไซต์วิเคราะห์อีเมล Email Header Analyzer แต่ช่องทางดังกล่าวใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือเบื้องต้นเท่านั้น ควรโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ประสานงานคู่ค้าโดยตรง และไม่คลิกลิงก์ หรือให้ข้อมูลส่วนตัวใดๆผ่านช่องทางเว็บไซต์ หรือ อีเมล “กรณีเกิดข้อร้องเรียน หรือข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ ให้ประสานขอความช่วยเหลือได้ที่กรม โดยเข้าไปเว็บไซต์กรมเลือกหัวข้อ DITP CARE หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)”

แต่หากผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกของไทยได้รับแจ้งทางอีเมลจากผู้นําเข้าในต่างประเทศ ขอเปลี่ยนแปลงเลขที่บัญชีธนาคารที่ต้องการโอนเงิน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ควรตรวจสอบเบื้องต้นดังนี้ ติดต่อไปยังบริษัทต้นทาง ยืนยันการส่งอีเมลแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาจริงหรือไม่ หรือติดต่อธนาคารที่อ้างถึง เพื่อตรวจสอบเลขที่บัญชี ชื่อบริษัท ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ชื่อผู้ติดต่อ ตรงกับเอกสารหรือข้อมูลที่ผู้ประกอบการได้รับมาหรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทย ควรมีรายชื่อผู้ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมลของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทคู่ค้ามากกว่า 1-2 ราย หากพบข้อสงสัยให้ติดต่อสอบถามสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลของบริษัทจะดำเนินธุรกิจร่วมกัน ทั้งที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ที่ต้องเป็นข้อมูลเดียวกัน เพราะบางกรณีชื่อบริษัทเหมือนกัน แต่ที่อยู่ เบอร์ติดต่อไม่เหมือนกันให้สงสัยได้ว่าน่าจะเข้าข่ายหลอกลวง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ