เศรษฐกิจไทยสัญญาณเริ่มฟื้น “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-ส่งออก” ช่วยพยุง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เศรษฐกิจไทยสัญญาณเริ่มฟื้น “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-ส่งออก” ช่วยพยุง

Date Time: 28 พ.ย. 2563 05:45 น.

Summary

  • สศค.เชื่อมาตรการกระตุ้นการบริโภค “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-ส่งออก” ช่วยพยุง จีดีพีปีนี้ติดลบน้อยลง ขณะที่เดือน ต.ค. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

สศค.เชื่อมาตรการกระตุ้นการบริโภค “เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง-ส่งออก” ช่วยพยุง จีดีพีปีนี้ติดลบน้อยลง ขณะที่เดือน ต.ค. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น หลังรัฐมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ-น้ำมันราคาลด-ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ณ ปัจจุบันมีร้านค้าลงทะเบียนคนละครึ่ง 8.5 แสนร้าน ผู้ใช้สิทธิ์ 9.49 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 2.8 หมื่นล้านบาท กรุงเทพฯแชมป์ใช้จ่ายสูงสุด รองลงมา สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ส่วนสิ้นปีนี้เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อาทิ เราเที่ยว ด้วยกัน คนละครึ่ง เป็นต้น รวมถึงการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว จะช่วยพยุงให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวติดลบน้อยลงกว่าที่ สศค.คาดการณ์ไว้ที่ 7.7%

สำหรับเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ณ ระดับราคาคงที่ติดลบ 9.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ชะลอตัว ขณะที่การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง 25.9% และ 11.0% ตามลำดับ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.9 โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ 1.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง 2.รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดย เฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน และ 3.ราคาพืชผลการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น โดยรายได้เกษตรกรที่แท้จริงเดือน ต.ค.ขยายตัวถึง 12.6%

“เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯชะลอตัว 6.7% จากการลดลงของการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญ อาทิ น้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น”

ส่วนสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และอาหารสัตว์เลี้ยง ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์
ส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น ถุงมือ ยาง เป็นต้น

“เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ติดลบ 0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2563 อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่ตั้งไว้ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงินสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการคนละครึ่ง ว่า ณ เวลา 12.00 น. ของวันที่ 27 พ.ย.2563 มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 850,000 ร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 9.49 ล้านคน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 28,609 ล้าน บาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 14,599 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 14,010 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ ตามลำดับ

สำหรับประชาชนที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2563 และได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว ขอให้รีบติดตั้งแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” พร้อมยืนยันตัวตนให้เรียบร้อย โดยขอให้เริ่มใช้สิทธิ์ในการใช้จ่ายโดยเร็วภายใน 14 วัน นับจากวันถัดจากวันที่ได้รับ SMS แจ้งรับสิทธิ์ เพื่อให้สามารถใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563

“กระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมหรือธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยได้ระงับสิทธิ์การใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และระงับการจ่ายเงินให้แก่ร้านค้าที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำผิดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการคนละครึ่งอย่างต่อเนื่อง และได้ประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว”.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ