นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.63 ว่า ครม.รับทราบข้อสังเกตของกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เพื่อให้การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่เป็นที่กังวลจากภาคส่วนต่างๆ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง
โดย กมธ.มีข้อเสนอแนะ 3 ด้านคือ ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ให้ทำความเข้าใจให้เกษตรกรยอมรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) และเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกร รวมทั้งแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 และ จัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยา ที่มีส่วนประกอบของจุลชีพ หรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับจุลชีพ ต้องสำแดงแหล่งที่มาร่วมด้วย ศึกษาและหรือ วิจัยต่อยอดเพิ่มเติมในลักษณะบูรณาการ เช่น ผลกระทบการขึ้นทะเบียนตำรับยา การเข้าถึงยาของ ประชาชน เร่งจัดทำฐานข้อมูลพันธุ์พืชสมุนไพรให้ครบถ้วน เป็นต้น ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เช่น จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า เป็นต้น
“ครม.มอบให้รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งผลการพิจารณาให้สำนักเลขาธิการ ครม.ใน 30 วัน เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป จากนั้นจึงจะพิจารณาว่าไทยจะไปเจรจาหรือไม่ บนเงื่อนไข/ข้อสงวนลักษณะใดต่อประเด็นอ่อนไหว ที่จะเป็นการให้เวลาไทยปรับตัว ยังไม่ใช่การลงนามความตกลงซีพีทีพีพี เพราะกว่าจะถึงตรงนั้นต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ก่อน”.