การประกาศให้สมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับระดับสากลวัดผลจาก 4,500 บริษัทชั้นนำทั่วโลก โดยพิจารณาจากผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีนี้ 2563 มีบริษัทไทยได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิก DJSI มากถึง 22 บริษัท
และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่เพิ่งฉลองครบรอบการก่อตั้งบริษัทมา 35 ปี เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาโดย ปตท.สผ.ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI ระดับโลกในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ประเภทธุรกิจขั้นต้นและธุรกิจครบวงจรต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 7 สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ท่ามกลางวิกฤติราคาน้ำมันและราคาพลังงานที่กำลังตกต่ำ ผันผวน ความขัดแย้งและการวัดกำลังของกลุ่มผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ หลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันลดลง ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน กำลังทำให้โฉมหน้าการผลิตและการใช้พลังงานของโลก กำลังค่อยๆเปลี่ยนผ่านปรับเปลี่ยน
ปตท.สผ.ในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย มีพันธกิจหลักในการสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ขณะเดียวกัน บริษัทได้เติบใหญ่ขยายอาณาจักรออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อหาแหล่งพลังงานสำรองใช้ในประเทศ และประเทศที่ออกไปลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องหารายได้กลับคืนสู่ประเทศไทยด้วย
“ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผู้บริหารสูงสุด ผู้กุมบังเหียนองค์กรแห่งนี้ “พงศธร ทวีสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.ว่า ทิศทางข้างหน้า ปตท.สผ.จะนำพาองค์กรฝ่ากระแสวิกฤติพลังงานโลก และเดินหน้าต่อไปในทางใด ภายใต้ภารกิจที่มีอยู่
ขณะเดียวกัน ก็ต้องนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน สมศักดิ์ศรีบริษัทไทย ที่ได้รับคัดเลือกว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
**********
“พงศธร” เล่าว่าย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้วว่า ปตท.สผ.ตั้งขึ้นมาในปี 2528 โดยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลผ่านการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อเป็นกลไกหลักของรัฐในการเป็นแกนนำในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ
ปตท.สผ.เริ่มต้นเข้าร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยได้ศึกษาเรียนรู้งาน สั่งสมประสบการณ์ สร้างบุคลากร องค์กรความรู้และเทคโนโลยี จนปัจจุบัน ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้เองเต็มตัวโดยมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากกว่า 40 โครงการ ทั้งในประเทศและอีก 15 ประเทศทั่วโลก โดยสามารถเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทพลังงานระดับยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นๆของโลกได้ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 4,500 ชีวิต จากพนักงานเริ่มต้นเมื่อ 35 ปีที่แล้ว เพียง 30 กว่าคน
“เราได้เรียนรู้ ได้พัฒนา ลองผิดลองถูก และได้บทเรียน จากวิกฤติพลังงานโลกที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีหลังมานี้ จากเหตุและปัจจัยต่างๆกันหลายต่อหลายครั้ง ทั้งช่วงที่ราคาน้ำมันทะยานขึ้นทะลุไปกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือแม้ที่ผ่านมาเร็วๆนี้ ในช่วงกลางปีที่ราคาน้ำมันร่วงลงไปต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
และคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันจะลดลง มีการเทขายสัญญาซื้อขายราคาน้ำมันล่วงหน้าในตลาดโลกที่ครบสัญญาส่งมอบน้ำมันแต่ไม่มีใครต้องการรับมอบน้ำมัน จนทำให้สัญญาราคาซื้อขายน้ำมันในตลาดล่วงหน้าติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดตั้งตลาดซื้อขายน้ำมันโลกมา”
“พงศธร” กล่าวว่า เรานำเอาบทเรียนและวิกฤติต่างๆมาทบทวน ทำให้ตอนนี้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ศักยภาพของตัวเองและพบว่าโลกสมัยนี้ไม่ใช่โลกของการแข่งขันสำหรับเรา และเราไม่ควรเข้าไปอยู่ในสถานะของการแข่งขัน แต่เราต้องทำตัวเองให้เป็นที่ต้องการของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า จากจุดเด่นจุดแข็งและข้อดีที่เรามี
รวมทั้งการเชื่อในพลังของการร่วมมือ จึงนำไปสู่วิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท.สผ.คือ Energy Partner of Choice เป็นความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ต้องการเข้ามาเป็นพันธมิตรกับเราเพื่อร่วมเติบโตไปพร้อมๆกัน ภายใต้พันธกิจ ที่ยังคงดำเนินธุรกิจทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งการเป็นตัวเลือกของพนักงานที่อยากเข้ามาทำงานกับเรา และประชาชนในท้องถิ่นอยากให้เราเข้าไปลงทุนหรือทำงานในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเรามีพื้นที่ทำงานทั้งใน สงขลา ขอนแก่น พิษณุโลก โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ขณะที่พาร์ตเนอร์อยากได้เราเข้าไปร่วมลงทุนรวมทั้งซัพพลายเออร์และผู้รับเหมาต้องการทำงานร่วมกับเรา เป็นต้น
นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังได้กลับมาตั้งหลักเน้นพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศและในภูมิภาคนี้ทั้งพม่าและมาเลเซีย ซึ่งยังคงมีแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ รวมทั้งโอมานและยูเออี
เพราะอย่างน้อยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราสามารถนำพลังงานส่งกลับมาใช้ภายในประเทศเราได้ทั้งที่พม่าและมาเลเซีย เพราะไทยเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงาน เราผลิตได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่เพียงพอกับการใช้ภายในประเทศและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ
ขณะที่ ปตท.บริษัทแม่ของ ปตท.สผ. และโรงกลั่นในประเทศได้มีการนำเข้าพลังงานหลักๆจาก 3 ประเทศนี้ คือ ซาอุดีอาระเบีย โอมานและยูเออี ดังนั้น ปตท.สผ.จึงคิดว่าเราควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสำรวจผลิตและพัฒนาตั้งแต่ต้นทาง
โดยทั้งโอมานและยูเออี ยังมีโครงการที่จะเข้าไปลงทุนได้อีกมาก และเขาต้อนรับเชิญชวนต้องการให้เราเข้าไปลงทุน ขณะเดียวกัน ยังทำให้ ปตท.ได้สิทธิ์ในการล็อกปริมาณน้ำมัน ที่จะนำเข้ามาในประเทศไทยได้ก่อนด้วย หากเกิดวิกฤติหรือปัญหาขาดแคลนขึ้นมา
และที่สำคัญ ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในยูเออี มีต้นทุนในราคาถูก ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ ปตท.สผ.ต้องมองเรื่องซัพพลายให้ประเทศไทยไว้ด้วย
“พงศธร” ยังให้มุมมองว่า แม้ปัจจุบันโลกจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่เชื่อว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า โลกยังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากฟอสซิลหรือถ่านหินอยู่ เพราะมีราคาถูก แต่ขณะเดียวกันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต การใช้พลังงานจากน้ำมันจะลดบทบาทลงไปมาก แต่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานหลักของโลกอยู่
ซึ่งปัจจุบันผลผลิตของ ปตท.สผ.เป็นก๊าซธรรมชาติ 70% และน้ำมัน 30% ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 หรือ 2573 จะปรับสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเพิ่มเป็น 80% และน้ำมันลดลงเหลือ 20%
“พงศธร” บอกว่า โชคดีที่ ปตท.สผ.ชนะประมูลพัฒนาแหล่งเอราวัณ-บงกช เพราะถ้าเราแพ้ กำลังผลิตของ ปตท.สผ.จะหายไปมากกว่า 100,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
โดยเงื่อนไขที่รัฐกำหนดในการแบ่งปันผลผลิต ถือว่ามีตัวเลขที่ชัดเจน ไม่ต้องมาตีความ แม้เงื่อนไขการแบ่งปันผลผลิต อาจจะทำให้มาร์จิ้นหรือกำไรขั้นต้น ของผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการลดลงมากกว่าครึ่ง เทียบกับเงื่อนไขสัมปทานในอดีต แต่สุดท้ายแล้วประโยชน์จะกลับไปหาประชาชน รัฐบาลไม่ได้เก็บเข้าคลัง แต่ส่งผ่านไปที่ภาคประชาชนด้วยราคาพลังงานที่เหมาะสม
ขณะที่ ปตท.ก็ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้ก่อตั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. มาเป็นกลไกรัฐที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นกลไกที่ balance กับองค์กรพลังงานต่างประเทศ ปตท.สผ.ทำหน้าที่ในแง่ของการจัดหาพลังงานต้นทาง ขณะเดียวกันก็ต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ ต้องทำธุรกิจมีกำไร
“โครงการบงกช ช่วงแรกตอนเข้ามาพัฒนาคาดว่ามีปริมาณ LNG สำรองเพียง 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น แต่ 27 ปีต่อมา เราผลิตออกได้มากถึง 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และปัจจุบันมีปริมาณสำรองเหลือที่จะนำมาผลิตได้อีกราว 7 ปี แต่เรายังคงเดินหน้าสำรวจหาเพิ่มได้เรื่อยๆ”
ทั้งนี้ ปัจจุบันในอ่าวไทย ผลิต LNG มาใช้ได้ 3,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือนำเข้าจากพม่าและมาเลเซีย 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่มองว่า ในอนาคตอีก 20-30 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยยังต้องใช้ LNG ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลปัจจุบัน ในแหล่งอ่าวไทย มีปริมาณ LNG เอามาใช้ได้อีก 10-20 ปีเท่านั้น ขณะที่ยังมีความต้องการใช้สูง ในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องมีการนำเข้า LNG ทุกปี จึงเป็นเหตุผลที่ ปตท.สผ.เริ่มรุกเข้าไปลงทุน LNG ทั้งในพม่า มาเลเซีย โอมาน โมซัมบิก และกำลังจะลงทุนในยูเออี
สำหรับมุมมองทิศทางราคาน้ำมันในปี 2564 นั้น “พงศธร” กล่าวว่า ขณะที่ราคาน้ำมันทรงๆอยู่ที่+/-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตราบใดที่วิกฤติโควิด-19 ยังไม่จบ ราคาน้ำมันจะอยู่ที่ระดับนี้ เพราะ 40 เหรียญฯ คือต้นทุนเฉลี่ยของทั้งโลกที่ผู้ผลิตทุกคนพออยู่ได้ แต่ถ้าลงไปต่ำกว่านี้ ผู้ผลิตทุกคนจะติดลบหมด พวกผู้ผลิตที่ต้นทุนต่ำอย่างรัสเซีย ซาอุดีอาระเบียและประเทศตะวันออกกลางจึงพยายามควบคุมให้ราคาอยู่ในระดับนี้ แต่มองว่าราคาน้ำมันที่ควรจะเป็นที่สุดคือที่ 60 เหรียญฯ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้เวลามาถึงจุดนี้อย่างน้อย 3-4 ปี
สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ปี 2564 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 และคาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2565 โดย ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายเฉลี่ยปี 2563 ที่ 350,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ, ปี 2564 ที่ 375,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ 435,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
นอกจากการกลับมาเน้นลงทุนประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางคือ ยูเออี และโอมาน ความสนใจลงทุนของ ปตท.สผ.จะอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติซึ่งราคามีเสถียรภาพและถูกกว่าราคาน้ำมัน เมื่อราคามันปรับตัวลง จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า นอกจากนี้ บริษัทได้เริ่มหันมาดูโอกาสการลงทุนธุรกิจพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะ solar energy รวมทั้งศึกษาพลังงานรูปแบบใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นด้วย
ขณะที่การลงทุนในโครงการซอติก้า gas-to-power ในพม่าที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติจาก ครม. ของพม่า ซึ่งเป็นโครงการที่ ปตท.สผ. มองว่าจะช่วยเสริมนโยบายของรัฐบาลพม่าในการให้ประเทศมีไฟฟ้าใช้ทั้งประเทศภายในปี 2573 ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.จะได้ขยายปริมาณการผลิตของโครงการซอติก้าเพื่อส่งพลังงานกลับมาใช้ในประเทศไทยด้วย
ปตท.สผ.ยังรุกคืบลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมไอที เทคโนโลยี AI and Robotics ด้วย โดยได้ตั้งบริษัทร่วมทุน เช่น กับไทยคม, บริษัท เมอร์เมด ซับซี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึงร่วมทุนกับ Kongsberg Ferrotech เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ “นอติลุส” ซ่อมท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก ซึ่งล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศ ADIPEC Awards 2020 ที่ยูเออี
********
“หากถามว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร สรุปโดยสั้นๆ คือเราอยากเป็นคนเก่ง-คนดี-มีความรับผิดชอบต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรา โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. ยังต้องการให้ ปตท.สผ.เป็นองค์กรที่เติบโตยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ 3 เป้าหมาย คือ 1.ทำองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (High Performance Organization: HPO) 2.มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยง และมีระบบการตรวจสอบภายในที่ดีโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Governance, Risk และ Compliance : GRC) 3.สามารถสร้างคุณค่าร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายทุกคน (Value Co-Creation : VCC)
การบรรลุ 3 สิ่งนี้ จะทำให้ ปตท.สผ.ทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและยืนยาว สอดรับพันธกิจ ปตท.สผ. ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจทั่วโลก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” พงศธรกล่าวทิ้งท้าย.
ทีมเศรษฐกิจ