ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวที่เป็นที่จับตาทั่วโลกคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงทิศทางนโยบายของสหรัฐฯในระยะต่อไป ภายหลังผลการเลือกตั้งชี้ว่าโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะก้าวเข้ามาเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯหนึ่งในนโยบายที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสมัย ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับนโยบายนี้ให้มากขึ้นค่ะ
ที่ผ่านมาอดีต ปธน.ทรัมป์ ให้ความสำคัญกับนโยบาย “สหรัฐฯ ต้องมาก่อน” (America First) โดยเน้นการสร้างและจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง อย่างไรก็ดี นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของว่าที่ ปธน.ไบเดน ให้ความสำคัญกับวาระด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากและถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับไปเข้าร่วมใน “ความตกลงปารีส” หลังสหรัฐฯประกาศถอนตัวในปี 2019 ซึ่งความตกลงนี้เป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ภายใต้การนำของว่าที่ ปธน.ไบเดน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กัน โดยนโยบายที่หาเสียงของไบเดนมองว่า การปรับนโยบายต่างๆให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นการนำสหรัฐฯเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่และก่อให้เกิดการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งในกระบวนการนี้ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด อาทิ สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และปรับโครงสร้างพื้นฐานโดยเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์และกังหันลม ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2035 และมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 นอกจากนี้ยังไม่อนุมัติให้มีการผลิตน้ำมันและก๊าซจากบริษัทรายใหม่ๆเพิ่มเติมในสหรัฐฯ
สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐฯ รวมถึงไทย โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (carbon border adjustment mechanism) หรือการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นนโยบายที่สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาบังคับใช้เช่นกัน โดยเน้นการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้าที่มีการใช้พลังงานเข้มข้น และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตในระดับสูง โดยสหภาพยุโรปมีแนวคิดที่จะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันคาร์บอน ในกรณีสหรัฐฯ นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ประเมินว่า อัตราภาษีที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บอาจสูงถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอน นอกจากนี้ ว่าที่ ปธน.ไบเดน อาจออก นโยบายบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอน (คาร์บอนฟุตพรินต์) เพื่อให้ผู้บริโภคทราบรายละเอียดของก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์นั้นปล่อยออกมาตลอดการใช้งาน ทั้งนี้ แม้ทั้ง 2 นโยบายมีเป้าหมายเพื่อลดโลกร้อน แต่ก็เพิ่มต้นทุนและทำให้สินค้านำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันได้
ผู้ส่งออกสินค้าของไทยจำเป็นต้องดำเนินการยกเครื่องการผลิตของตนเองให้สอดคล้องกับเทรนด์สิ่งแวดล้อม รวมถึงภาครัฐควรให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกันค่ะ
โดย ธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.
** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **