“กรุงเทพโพลล์” เผยคนไทยส่วนใหญ่ มีรายได้เดือนชนเดือน ไม่พอเก็บ เพราะของแพงขึ้น ต้องผ่อนรถผ่อนบ้าน ทำให้ต้องประหยัด คิดก่อนซื้อ ใช้จ่ายในเรื่องจำเป็นเท่านั้น
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. “กรุงเทพโพลล์” โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "สภาวการณ์ทางการเงินของคนไทย ในปี 2563" เก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,221 คน พบว่า ภาพรวมทางการเงินของคนไทยในปีนี้ ร้อยละ 41.4 ระบุว่า มีรายได้แบบเดือนชนเดือน ไม่พอเก็บออม รองลงมาร้อยละ 28.3 ระบุว่า มีรายได้ไม่เพียงพอต้องหยิบยืม/กู้เงิน และร้อยละ 17.6 ระบุว่า มีรายได้เพียงพอ แต่มีเงินออมลดลง
ส่วนปัจจัยที่ทำให้มีเงินออมลดลง/ไม่พอเก็บออม/รายได้ไม่เพียงพอในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.3 ระบุว่าข้าวของเครื่องใช้ประจำวันมีราคาแพงขึ้น รองลงมาร้อยละ 36.8 ระบุว่าต้องผ่อนรถ/ผ่อนบ้าน และร้อยละ 29.3 ระบุว่ามีลูกค้าน้อยลง ธุรกิจแย่/ค้าขายไม่ดี
สำหรับวิธีจัดการ/ปรับวิธีใช้จ่ายเงิน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในการใช้จ่ายท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.7 ระบุว่า ใช้จ่ายให้ประหยัดขึ้น และคิดก่อนซื้อ รองลงมา ร้อยละ 55.7 ระบุว่า ใช้วิธีลดการทานอาหารนอกบ้าน ลดปริมาณการท่องเที่ยว และร้อยละ 22.7 ระบุว่าใช้วิธีหารายได้พิเศษ เช่น ขายของออนไลน์ ขายของตลาดนัด ขับรถส่งสินค้า ฯลฯ
เมื่อถามว่า "ในสภาวการณ์แบบนี้หากต้องคงไว้ซึ่งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น จะคงหมวดใดไว้มากที่สุด" โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 80.8 ระบุว่า หมวดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ รองลงมาร้อยละ 73.3 ระบุว่า หมวดค่าอาหาร เครื่องใช้ต่างๆ และร้อยละ 43.8 ระบุว่า หมวดค่าการศึกษาของตนเองและบุตรหลาน