คนรุ่นใหม่สะท้อนปัญหาสตาร์ตอัพ ในสถานการณ์ระบาดของโควิด19

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คนรุ่นใหม่สะท้อนปัญหาสตาร์ตอัพ ในสถานการณ์ระบาดของโควิด19

Date Time: 12 พ.ย. 2563 10:25 น.

Summary

  • จากงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป มาฟังเสียงของคนรุ่นใหม่สะท้อนถึงนายกรัฐมนตรีต่อแนวทางการแก้ปัญหาธุรกิจสตาร์ตอัพ ผ่านความคิดเห็นของนายอมฤต เจริญพันธ์

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

จากงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” จัดโดยไทยรัฐกรุ๊ป มาฟังเสียงของคนรุ่นใหม่สะท้อนถึงนายกรัฐมนตรีต่อแนวทางการแก้ปัญหาธุรกิจสตาร์ตอัพ ผ่านความคิดเห็นของนายอมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba ผู้ให้บริการ Co-working space “ปี 2563 เป็นปีที่สตาร์ตอัพมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้อย่างชัดเจน โดยผู้ชนะแน่นอนว่าคือบริษัท Flash Express ผู้ให้บริการขนส่งสินค้า ที่ในช่วงปี 2563 มีบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR (PTT Oil and Retail) ในเครือ ปตท. จำกัด (มหาชน), กรุงศรี ฟินโนเวต และเดอเบล (Durbell) บริษัทในกลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมลงทุนเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท”

ดีลล่าสุดที่เกิดขึ้น คือ การควบรวมกิจการระหว่าง LINE MAN และ Wongnai จนกลายเป็นบริษัทใหม่ LINE MAN Wongnai ตามที่ทราบกัน ทางด้านผู้แพ้ เป็นสตาร์ตอัพด้านท่องเที่ยว (Travel) และธุรกิจการบริการ (Hospitality) ที่ได้รับวิกฤติทางตรงจากโควิด-19

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ร่วมก่อตั้ง Hubba ระบุว่า ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพได้รับผลกระทบแน่นอน บางแห่งถึงขั้นต้องลดขนาดลง (Downsize) หรือไม่ก็ต้องปรับแนวไปเป็นบริษัทที่รับพัฒนาทำซอฟต์แวร์ (Software House) เพื่อความอยู่รอด ขณะที่นักลงทุนจากต่างประเทศที่ให้ความสนใจในสตาร์ตอัพไทย ก็ไม่สามารถเดินทางมาดูกิจการด้วยตาตัวเอง จึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินคุณภาพของสตาร์ตอัพที่ต้องการลงทุน ส่วนนักลงทุนในไทย ขณะนี้แทบจะไม่มีรายใหม่เกิดขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากสตาร์ตอัพในตอนนี้ก็ยังไม่มีความโดดเด่นมากนัก

“มันกลายเป็นสภาวะที่บริษัทใหญ่ไม่อยาก ลงทุนสตาร์ตอัพไทยก็ไม่โต ไม่เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่” ในส่วนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มซื้อมาขายไปอย่างอีคอมเมิร์ซ ยังได้รับความนิยม จะเห็นได้จากภาวะโควิด-19 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่นเดียวกับการลงทุนในกลุ่ม Fintech หรือธุรกิจที่ใช้ข้อมูล (Data) ในการต่อยอดธุรกิจยังไปได้สวย สำหรับสตาร์ตอัพในกลุ่ม Deep Tech เชื่อว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีความสลับซับซ้อน การพัฒนาทำไม่ง่าย และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิทธิบัตรอีกด้วย

อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์สตาร์ตอัพไทยในปี 2564 นายอมฤต มองว่า สิ่งที่สำคัญมากและละเลยไม่ได้คือ เรื่องของการให้การสนับสนุน ซึ่งคนทำสตาร์ตอัพจำต้องมีพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ดี ที่คอยให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา มีหน่วยงานคอยช่วยเหลือในด้านการลงทุน ถ้าบริษัทสตาร์ตอัพไม่มีสิ่งเหล่านี้ การดำเนินการจะทำได้ยาก แต่สตาร์ตอัพที่แข็งแรงอยู่แล้วก็จะยังคงแข็งแกร่งต่อไป “การที่คนทำสตาร์ตอัพไม่มีพี่เลี้ยงที่ดี ทำให้เสียโอกาสที่จะเติบโต”

นอกเหนือจากนี้แล้ว เรื่องของสภาพแวดล้อมก็ส่งผลต่อคนทำงานสตาร์ตอัพเช่นกัน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆอย่างรถติด ไปจนถึงเรื่องของเศรษฐกิจ-การเมือง “บริษัทที่ดีเป็นบริษัทที่ต้องมีคนเก่ง ถ้าคนเก่งๆไม่อยากอยู่ในประเทศ จะเสี่ยงเกิดปัญหาสมองไหล”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ