รมว.คลัง เชื่อ เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 มั่นใจ ล้มแล้วลุกได้เร็ว ไม่เหมือนปี 40 ด้านเลขาฯสภาพัฒน์ฯ ระบุ ต้องปรับตัว เน้นใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนโครงสร้างไม่พึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยว เหมือนในอดีต
วันที่ 11 พ.ย. ที่โรงแรม แมนดาริน โอเรียนเต็ล ไทยรัฐกรุ๊ป ประกอบไปด้วย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไทยรัฐออนไลน์ และ ไทยรัฐทีวี จัดงาน Dinner Talk มองอนาคตประเทศ “SHARING OUR COMMON FUTURE ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน” เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ในการเสวนา ช่วง “เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก”
โดย นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอบคำถามในช่วงท้ายการเสวนา กับพิธีกรบนเวที ว่า เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ต้องขยับตัวขึ้น ไปทั้งการศึกษา เทคโนโลยี โดยใช้จุดแข็งที่มีในการสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ เชื่อว่าเป็นช่วงที่ดีจะได้ปรับปรุงตัวเอง แล้วก้าวไปข้างหน้าโดยใช้เทคโนโลยี
ขณะ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในประเด็นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป ว่า เราน่าจะโตเพราะว่า เรื่องกรีน อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพก็เปลี่ยนเป็น EV ท่องเที่ยวเป็น Health and Wellness, อาหารก็จะผลิตในคุณภาพสูงกว่าเดิม และมีมาตรฐานในแง่สิ่งแวดล้อมที่เข้มขึ้นจะเป็นโจทย์ที่สำคัญ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่สหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านไป นโยบายของ ประธานาธิบดีคนใหม่ เชื่อว่า ก็มีความเน้นเรื่องกรีน ถ้าเราจะไปให้ยั่งยืนเราต้องใส่ใจมากกว่านี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือความยั่งยืน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจะมองแค่ตัวเลข เราต้องมองเรื่องความยั่งยืน ต้องยึดหลักความพอเพียง ไม่ใช่ไม่ให้ขยายธุรกิจ แต่ดูที่ขีดความสามารถ ส่วนจุดยืนต้องยืนที่นี่ตรงนี้ คือ ความเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
ส่วนคำถามว่า "ประเทศไทยเราเรียนรู้อะไรกับโควิด-19 บ้าง" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “การตอบสนองในทันทีถือว่าเร็ว จำกัดพื้นที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ช่วงแรกไทยเรายอมสละเรื่องเศรษฐกิจ ตามมาด้วยมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แบ่งเป็นระยะกลาง ระยะยาว ครั้งนี้เราไม่ได้ป่วย แต่บังเอิญมีทางลาด ลื่นลงไปหน่อย ไม่เหมือนปี 40 ที่ไม่แข็งแรง ซึ่งครั้งนี้มั่นใจจะลุกได้เร็ว
ด้าน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคธนาคารมีภูมิคุ้มกันจากปี 40 แน่นอนว่าเราก็จะได้บทเรียนและเรียนรู้ ปรับตัวกันไป เบื้องต้นทำให้เราเข้าใจว่าเรามีความยืดหยุ่น แต่มันกลายเป็นว่าเราไม่ได้แกร่งกว่าที่คิด เพราะเราพึ่งการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งมันเป็นความเสี่ยงและเปราะบาง การมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่หลากหลายน่าจะดีกว่า
ขณะ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยมีความแข็งแกร่ง แต่มีการพึ่งพาส่งออกและท่องเที่ยวเกินไป เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้ที่จะปรับโครงสร้าง เพื่อไม่ให้อ่อนไหวเหมือนตอนนี้ ส่วนที่แข็งแรงพอคือภาคเกษตรกรรม การผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาหารที่แข็งแรงมาก ถึงได้ยืนระยะได้ดี เช่นเดียวกับการขนส่งที่ครอบคลุม ส่วนอนาคตต้องปรับโครงสร้างต้องมีการปรับอีกที ดูในแง่ของเซกเตอร์ใหม่ๆ.