ต้องยอมรับว่า โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใหม่ ทลายกรอบแบบดั้งเดิมอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ กลับปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้ทางจะขรุขระบ้าง เพราะหนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ถือว่าไม่ได้แย่เลยสักนิด
สิ่งที่น่าสนใจในอันดับถัดมา หลายๆ ครั้งเราอาจจะเคยได้ยินว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก แต่ก็ยังไม่หวือหวาเท่าไร พอมีโควิดเข้ามา กลับกลายเป็นปฏิกิริยาเร่งให้ Tech เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตเรามากขึ้น และมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อเราปรับตัวแล้ว ปัจจัยแวดล้อมเริ่มปรับแล้ว ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่จะผลักดันอย่างไร ลองมาฟังเสียงคนรุ่นใหม่กัน
แม็กซ์ ธีระชาติ ก่อตระกูล CEO & Co-Founder บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน StockRadars ซึ่งเป็น Startup Fintech ในยุคแรกของไทย กล่าวว่า ปัญหาของวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษจริงๆ ที่รัฐบาลจะต่อยอด และให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และเน้นการสร้างเทคโนโลยีให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดโควิด-19 มาเราจะเห็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาคการส่งออกได้รับผลกระทบกันไปหมด ซึ่งใน 2 เซกเตอร์นี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ถ้าหากให้พูดง่ายๆ หากเปรียบประเทศเป็นคน
ตอนนี้สกิลที่เราถนัดที่สุดดันไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน นั่นมันก็แปลว่าเราเองก็ต้องปรับตัว และรัฐเองก็ต้องปรับตัวพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิด Soft Power โมเดลเดิมก็ต้องเปลี่ยนโดยโจทย์ คือ ทำอย่างไรทำให้เราปรับตัวอยู่ได้
แม็กซ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราควรเลิกเป็นผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว เราควรเป็นผู้สร้างสินค้าหรือบริการของตนเอง รัฐต้องช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่ยอมเปลี่ยน สุดท้ายก็จะมีคนมาบังคับเราให้เปลี่ยน แล้วเราจะไม่เหลือโอกาสในการเลือกเลย
ยกตัวอย่าง เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า EV สมัยก่อนเราเด่นเรื่องอุตสาหกรรมด้านการผลิตรถยนต์ ถือเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย เรารับจ้างผลิตแต่พอบริษัทย้ายฐานการผลิตประเทศเพื่อนบ้านก็จบกัน ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่น เช่น จีน แต่เดิมจีนรับจ้างผลิตพอ 20 ปีผ่านไป จีนมีสมาร์ทโฟน มีรถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แบรนด์ของจีน
ในประเด็นนี้ หากมองระยะยาวเราจะไม่เหลือ Value อะไรให้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่วิศวกรไทยเก่งมากๆ ทำรถยนต์ได้ทั้งคัน แต่ก็ไม่ได้นำมาพัฒนาต่อ สิ่งนี้จะโทษรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องโทษทุกคนที่ไม่สามารถผลักดันให้ แบรนด์ไทย หรือ Local Brand ที่เป็นของไทยไปต่อในเวทีโลกได้
"ผมดีใจมากๆ เลยนะที่ได้เห็นรถเมล์ไฟฟ้า ที่ทำจากฝีมือคนไทย และเป็นของคนไทย แบบนี้แหละที่ผมอยากให้มีเยอะๆ หรือรัฐบาลอาจจะใช้มาตรการทางภาษีเข้ามากระตุ้นเพื่อผลักดันให้มีแพลตฟอร์มบริการต่างๆ สตาร์ทอัพต่างๆ ที่เป็นของคนไทยให้คนไทยได้ใช้"
ต้องผลักดัน Startup ให้เกิดขึ้นจริงๆ
ทั้งนี้ เราก็อยากจะถามว่า Startup เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ ใช่ไหม ถ้าใช่ รัฐก็อาจจะต้องแสดงออกมากกว่าการจัดงาน ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลอยากให้ EdTech Startup เกิดขึ้นก็อาจจะสนับสนุนเลยว่า หากใครที่มาอุดหนุนซื้อ EdTech เมืองไทยจะได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่า
หรือหากใครที่ทำงานอยู่ในแวดวง Startup ก็ลดภาษีรายได้ส่วนบุคคล หรือให้เขางดจ่ายภาษี นี่ก็ช่วยให้คนเก่งๆ หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Talent กลับเข้ามาอยู่ในแวดวง Startup มาช่วยกันผลักดันเทคโนโลยีให้เกิด
"มูลค่าโลกตอนนี้ไปอยู่ที่ Tech หมดแล้ว ซึ่งหาก Tech ไปจับกับอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามก็ช่วยให้เซ็กเตอร์นั้นๆ มีมูลค่าเพิ่มไปในตัวด้วย เช่น ถ้าเอา Tech ไปจับกับภาคเกษตรเราจะได้อะไรใหม่ๆ อีกเยอะเลย โดยรัฐอาจจะใช้วิธีการจัดซื้อ จัดจ้าง Tech Startup มากกว่าเอาไปทำเอง หรือรัฐมีหน้าที่สร้างสิ่งแวดล้อมมากกว่าเอาไปทำเอง"
แม็กซ์ บอกว่า จริงๆ แล้วรัฐไม่ต้องทำแอปพลิเคชันทั้งหมดเองก็ได้ แค่เปิดให้มี OpenAPI รัฐเป็นเจ้าของข้อมูล และข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็เปิดให้หมด เดี๋ยวจะมีนักพัฒนาไปเก็บมาทำเซอร์วิสดีๆ ให้ ซึ่งถือเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมได้ดีเลยทีเดียว
รัฐต้องช่วย Reskill คน
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนนั้นเราให้ความสำคัญกับการเป็นประเทศอุตสาหกรรม เราสร้างโรงเรียนอาชีวะเต็มไปหมดเพื่อให้ผลิตคนมาป้อนอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้เราดำเนินนโยบายแบบไทยแลนด์ 4.0
หากเป็นแบบนั้น เราก็ต้องผลิตคนออกมาป้อนในส่วนของ Tech ให้มากขึ้น แต่ทุกวันนี้เรายังผลิตคนมาป้อนในอุตสาหกรรม ซึ่งบางส่วนก็ย้ายฐานการผลิตไปแล้ว คนที่จบสายนั้นออกมาก็ต้องไปทำอย่างอื่น
"รัฐควรส่งเสริมและ Reskill สร้างคนใน Tech Talent ให้มากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงานในส่วนนี้ เราต้องยอมรับว่าแรงงานในสาย Tech มีคุณภาพชีวิตดีกว่าปกติอยู่แล้ว ที่สำคัญแรงงานในส่วนนี้ขาดเยอะมาก เหมือนเรายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เปลี่ยนฐานอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งนี้ก็จะเป็น Feedback Loop หากมา Reskill แต่หากยังห่วง incumbent หรือคนที่ถูก disrupt เราก็จะแย่เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ"
ตั้งศูนย์กลางไว้ที่ประชาชน
แม็กซ์ มองว่า หลักๆ ตอนนี้รัฐต้องดำเนินนโยบายใหม่ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะดันทุกอย่างเป็นเพื่อเซอร์วิสประชาชน ซึ่งสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้อาจจะไม่ได้เอื้อประชาชนทุกภาคส่วน
"ผมว่าการโครงการแจกเงิน หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการหยุดงานอาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือตอบโจทย์เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้นๆ และไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่แท้จริง"
เมื่อเรามีโอกาสที่ดีในการปรับตัว โควิดอาจจะเป็นสิ่งกระตุ้นสำคัญที่ให้เราปรับตัว แต่เดิมเราเคยทำอะไรไม่ได้ตั้งหลายอย่าง แต่พอโควิดมาทุกคนทำได้หมดแสดงว่าอย่าไปยึดติดกับสิ่งใดๆ ว่าอันนี้เกิดขึ้นไม่ได้ นั้นไม่ใช่สกิลของคนยุคนี้ เพราะคนยุคนี้ปรับตัวเก่ง ตามกฎอยู่รอด คือ คนที่ปรับตัวได้ หากรัฐมองเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี เราก็ไม่รู้ว่าจะมีโควิดถ้าเป็นแบบนั้นเราต้องปรับตัวเร็ว อย่าไปกลัวในเรื่องที่ไม่เคยทำ
"สมัยก่อนกว่าเราจะได้คุยกับนายกรัฐมนตรีค่อนข้างยากนะ แต่สมัยนี้แค่ติด Mention ในทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก เราก็ได้คุยกับนายกฯ แล้ว ข้อดีถ้าข้อมูลเหล่านี้เป็นแบบเปิดเราก็มาคุยกันว่า คนในประเทศนี้กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องไหน โอเคถ้าแบบนั้นเรามาพัฒนาเรื่องนี้กันนะ เหมือนทำธุรกิจ ถ้าลูกค้าต้องการแบบนี้เราก็มาพัฒนาร่วมกัน เหมือนทำให้รู้สึกว่าเรามีความสำคัญเท่าๆ กันทุกคน มันก็จะน่าโอเคแล้ว"
ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong