นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ความเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 64 ว่าจะต้องรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะผันผวนอย่างไรเพราะเศรษฐกิจของไทย ต้องยอมรับว่า ยังต้องพึ่งพาการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะหากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยก็จะไม่ฟื้นตัวตามไปด้วย
จึงมองว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลก ก็ยังไม่ฟื้นตัว เพราะตราบใดที่โลกยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกประเทศก็จะยังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจไปด้วยกัน แม้ว่าสหรัฐฯจะมีประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ แต่นายโจ ไบเดน ก็ไม่ใช่วัคซีนรักษาโควิด-19 ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯในฐานะลูกค้ารายใหญ่ของการส่งออกไทย ก็จะยังไม่มีกำลังซื้อสินค้าจากประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆในโลกทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยก็จะยังไม่ฟื้นตัวตามที่หลายๆฝ่ายต้องการ
“เมื่อถามว่าแล้วเมื่อใดในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ เรื่องนี้ผมขอรอดูฝีมือของรัฐบาลว่า จะมีมาตรการใดๆออกมาเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้มากขึ้น เพื่อพยุงภาวะเศรษฐกิจในประเทศให้เริ่มฟื้นตัว เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้อยู่ในขณะนี้คงไม่เพียงพอ แต่อาจเพิ่มมาตรการอื่นๆ เช่น ปลุกกระแสให้คนไทยหันมาซื้อสินค้าไทยหรือเมดอินไทยแลนด์ให้เข้มข้นมากขึ้น”
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจประเทศไทยจะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับฝีมือรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะมีมาตรการใดๆมาเพิ่มเติมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับคนในประเทศ ส่วนตัวเขาไม่อยากให้มัวรอความหวังว่าในช่วงเวลาใดที่จะสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ เพราะไม่มีใครสามารถตอบได้ในขณะนี้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจประเทศไทยอาจจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 65 บนสมมติฐานว่าโลกสามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ดังนั้น ในปี 64 หากรัฐบาลสามารถทำให้ภาวะเศรษฐกิจพยุงตัวเดินต่อได้ก็ถือว่า ทำได้ดีมากแล้ว
สำหรับสาเหตุที่ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะสามารถทำได้เพียงแค่พยุงตัวเดินได้ ก็เพราะว่า ในภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 ที่คาดว่า ตัวเลขอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่เป็นตัวเลขต่ำสุดของปีนี้ (-12.2%) เพราะก็ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เริ่มทำ งานอย่างเห็นผล ในไตรมาส 3 และ 4
แต่ในภาพรวมแล้ว กำลังซื้อจริงๆของคนไทย ไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก หรือเรียกว่าเป็นกำลังซื้อแบบฉาบฉวยจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว ที่สำคัญประเทศไทยไม่มีกำลังซื้อที่เป็นปัจจัยหลักจากนักท่องเที่ยวเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ก็คือ การขยายวงกว้างของไวรัสโควิด-19 รอบที่สอง
ล่าสุดส่งผลให้สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐฯมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกิน 100,000 คนต่อวัน ส่งผลให้ประชากรของอียูและสหรัฐฯคงไม่มีอารมณ์เดินทางออกมาท่องเที่ยวในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ประเด็นนี้จะเป็นอีกสาเหตุให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แม้ว่า ประเทศไทยจะทยอยผ่อนคลายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คนเชื่อว่า นักท่องเที่ยวก็คงไม่มีใครอยากเสี่ยงนั่งเครื่องบินเดินทางหลายชั่วโมงออกไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นด้วยความเสี่ยง หรือการไปเผชิญกับการติดเชื้อโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลกเช่นกัน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับแรงขับเคลื่อนของไตรมาสสุดท้ายปี 63 ซึ่งถ้าขยายตัวได้ดี จะทำให้ปี 64 เติบโตได้ดีขึ้น หรือน่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ 3-4% แต่ถ้าไตรมาส 4 ปีนี้ ขยายตัวไม่ดีนัก ปีหน้าก็อาจไม่ขยายตัวได้ตามที่คาด ส่วนในปี 63 คาดเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7-8% แม้ไม่เห็นภาพการฟื้นตัวเพราะการระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลายตัว กระทบต่อเศรษฐกิจโลก และไทย ประกอบกับมีความไม่เชื่อมั่นทางการเมืองซ้ำเติม แต่มาตรการกระตุ้นของรัฐ ทั้งคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และการเติมเงินให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้น น่าจะทำให้ไตรมาส 4 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขเศรษฐกิจปี 64 มี 3 เรื่องที่ต้องจับตาคือ การระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 ถ้ายังไม่คลายตัว มีผลทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก ยังไม่มีวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมาใช้ได้ในไตรมาส 2 จะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้าลง และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา
แต่ถ้าทั่วโลกสามารถควบคุมการระบาดได้ดี มีวัคซีนออกมาใช้ได้ตั้งแต่กลางปี 64 ไทยเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น รับนักท่องเที่ยววีซ่าพิเศษโดยเพิ่มเวลาพำนักในไทยนานขึ้นกว่า 270 วัน มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับการทำงานจากเมืองไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น อินเตอร์เน็ต หรือสามารถทำการท่องเที่ยวแบบทราเวล บับเบิล (จับกลุ่มท่องเที่ยวระหว่างประเทศในกลุ่มเสี่ยงต่ำ) ได้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยพร้อมขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 64 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเรื่องการเมืองในประเทศอีกที่ต้องจับตาดู “ถ้าการเมืองนิ่ง รัฐบาลออกมาตรการต่างๆกระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง “รัฐบาลมีเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท แต่เพิ่งใช้ไป 100,000 ล้านบาทกว่าๆ ยังเหลืออีกราว 250,000 ล้านบาท ที่จะใช้ได้อีก ซึ่งรัฐบาลอาจออกมาตรการเพิ่มเติมในไตรมาส 1 และ 2 ของปีหน้า และจะมีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2”
ยังมีเรื่องของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ นายโจ ไบเดน ที่จะส่งผลถึงการค้า และการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่คาดว่านโยบายของนายไบเดนจะเป็นบวกกับไทยทั้งการผ่อนปรนสงครามการค้ากับจีน เดินหน้ายุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่ให้ความสำคัญกับประเทศต่างๆทั้งในอินโดจีน และแปซิฟิก ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย เปิดรูปแบบเจรจาการค้าแบบพหุภาคีมากขึ้น ลดอุปสรรคทางการค้า และทำให้การค้าเสรีมากขึ้น เป็นต้น เหล่านี้น่าจะทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น.