รัฐบาลมั่นใจ แม้สหรัฐฯ จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้าหรือ GSP ก็ไม่กระทบภาคการส่งออก ย้ำนายกฯ เคยสั่งให้หน่วยงานรัฐ พร้อมทั้งผู้ประกอบการไทย เตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว
จากกรณีอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศระงับสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร สินค้านำเข้าจากไทยอีก 817 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ 30 ธ.ค.นี้ โดยอ้างไทยไม่มีความคืบหน้าเรื่องเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ สิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System Preference) หรือเรียกย่อๆ ว่า GSP เป็นสิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนานั้น ๆ สามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้ให้สิทธิ GSP แก่ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ไทย-สหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 48,630.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการไทยเตรียมความพร้อมและมาตรการรองรับไว้แล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยด้วยการวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น
- การเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หรือ Online Business Matching
- ส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ
- ส่งเสริมความร่วมมือกับผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดหลักที่เติบโตอย่างอิ่มตัวแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไทยยังสามารถส่งสินค้าออกไปขายในตลาดสหรัฐฯ ได้ปกติ เพียงแต่ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ ซึ่งสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP จำนวน 231 รายการนั้น ไทยใช้สิทธิจริงในปี 2562 เพียง 147 รายการ มีการประเมินภาษีที่ไทยต้องเสียอยู่ที่ 600 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์บางชนิด ซึ่งเป็นสินค้าของไทยที่มีศักยภาพการส่งออกทั้งตลาดสหรัฐฯ ตลาดยุโรปและเอเชีย
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เคยให้ข้อสังเกตว่า สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐฯ นั้น เป็นการให้จากสหรัฐฯ เพียงฝ่ายเดียวกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดแล้ว ซึ่งวันหนึ่งอาจจะต้องหมดไป เพราะไทยสามารถเติบโตและพัฒนาสูงขึ้นจนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางตามการรายงานของธนาคารโลก
ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เน้นการเติบโตจากเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งการส่งเสริมการลงทุนใน 10+2 อุตสาหกรรมใหม่ เช่นอุตสาหกรรมหุ่นยนต์โรโบติกส์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์และสุขภาพ รวมไปถึงการพัฒนาการเกษตร BCG สนับสนุนการจดทะเบียนสินค้าเกษตร GI ของไทยเพื่อปรับโหมดสินค้าไทย เพิ่มมูลค่าแต่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลกด้วย