ทำได้จริง สลับวันหยุด มีวันหยุดยาว กระตุ้นท่องเที่ยวไทยกว่า 1.7 พันล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทำได้จริง สลับวันหยุด มีวันหยุดยาว กระตุ้นท่องเที่ยวไทยกว่า 1.7 พันล้าน

Date Time: 10 พ.ย. 2563 07:30 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินมาตรการวันหยุดยาว สลับวันหยุดของภาครัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้มากกว่า 1.7 พันล้านบาท

Latest


ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินมาตรการวันหยุดยาว สลับวันหยุดของภาครัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวไทยได้มากกว่า 1.7 พันล้านบาท

กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS กล่าวว่า การท่องเที่ยวนั้น วันหยุดถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อยู่ติดกับเสาร์อาทิตย์ หรืออยู่กลางสัปดาห์นั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวที่แตกต่างกันอย่างมาก โดยเฉพาะกับการเที่ยวในประเทศที่ใช้เวลาไม่กี่วัน

อย่างไรก็ตาม แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ คือ การสลับวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อยู่กลางสัปดาห์ หรือที่เรียกกันว่า วันหยุดฟันหลอ ให้มาหยุดติดกับวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อสร้างวันหยุดยาวแทน ซึ่งวิธีการนี้น่าจะสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ โดยใช้วันหยุดเพียงเท่าเดิม โดยในบทความนี้ได้ทำการวิเคราะห์ว่า การมีวันหยุดยาว ดีกว่าการมีวันหยุดตรงกลางสัปดาห์อย่างไร มีพื้นที่ที่เสียประโยชน์หรือไม่ และมีผลต่อการท่องเที่ยวเพียงใด

พฤติกรรมการเดินทางระหว่างวันหยุดแบบต่างๆ แตกต่างกันขนาดไหน?

เราพอทราบว่าผู้คนมักไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวมากเป็นพิเศษ แต่เรามักไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นจำนวนมากกว่าการเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ปกติและวันหยุดตรงกลางระหว่างสัปดาห์ขนาดไหน อย่างไรก็ดี ด้วยข้อมูลดัชนีการขอใช้เส้นทางขับรถจาก Apple Map ทำให้เราเห็นภาพดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น  

ในรูปที่ 1 ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนมักไม่ค่อยขอใช้เส้นทางนักในช่วงวันธรรมดา (ยกเว้นวันศุกร์ที่ผู้คนมักมีการสังสรรค์กันตอนเย็น ตลอดจนเดินทางออกต่างจังหวัด) แต่มักมีการขอเส้นทางในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และยิ่งมีการขอเส้นทางขับรถกันมากขึ้นในช่วงวันหยุดยาว เช่น ในช่วงวันหยุดยาวที่ 4-7 ก.ค. วันที่ 25-28 ก.ค. วันที่ 4-7 ก.ย. เป็นต้น (อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้คนขอเส้นทางน้อยกว่า หากวันหยุดยาวตรงกับช่วงที่มีมรสุม อย่างวันที่ 4-7 ก.ย.) และมีการขอใช้เส้นทางไม่มากนักในวันหยุดตรงกลางสัปดาห์ เช่น วันที่ 12 ส.ค.

เมื่อคำนวณค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทางต่อวันสำหรับวันประเภทต่างๆ ผลลัพธ์ในรูปที่ 2 ก็แสดงให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า ค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทางจะมีมากที่สุดในหมวดวันหยุดยาว ตามมาด้วยวันหยุดสุดสัปดาห์ ในขณะที่วันหยุดนักขัตฤกษ์ที่อยู่กลางสัปดาห์ อย่างเช่นวันที่ 12 ส.ค. มีคนขอเส้นทางน้อยที่สุดในหมวดวันหยุดด้วยกัน 

แล้วเวลาคนใช้ Map เยอะขึ้น แล้วอัตราการพักเพิ่มขึ้นตามหรือไม่?

เมื่อพิจารณาข้อมูลค่าเฉลี่ยยอดผู้ขอเส้นทาง Apple Map รายเดือน กับอัตราการเข้าพัก (OR) ที่เผยแพร่รายเดือนในรูปแบบดัชนีที่มีค่าฐานที่เดือนมกราคม พบว่าค่าดัชนีทั้งสองในช่วง ม.ค. - ส.ค. มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน

ตั้งแต่ในช่วง เม.ย. จะเห็นได้ว่าแม้ดัชนี Apple Map จะฟื้นตัวกลับมาในจุดเดิมได้ในเดือน ก.ค. แต่ค่า OR กลับฟื้นตัวไม่มากเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการขอเส้นทาง Apple Map อาจขึ้นอยู่กับการขอเส้นทางขับรถของคนในประเทศมากกว่า ทำให้เวลาคนในประเทศกลับมาเดินทางเหมือนเดิม ค่าดัชนีจึงกลับมาได้เร็ว

ในขณะที่ค่า OR ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่มาก (ในปี 2019 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนรายได้ถึง 64% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งหมด) การที่ในช่วงนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเข้ามาพักที่ไทยได้ ทำให้ค่า OR ไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนักไม่เพียงแต่ที่เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างดัชนี Apple Map และค่า OR ในภาพรวมของประเทศเท่านั้น หากพิจารณาลึกลงไปในระดับจังหวัด ก็จะพบว่าค่าดัชนีทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเช่นกัน

ในรูปที่ 5 ได้แสดงค่า OR และดัชนี Apple Map ในแต่ละจังหวัด โดยจุดแต่ละจุดแสดงถึงข้อมูลของแต่ละจังหวัด เราสามารถเห็นได้ว่าในตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์ (เดือน มิ.ย. ถึง ส.ค.) ค่าเฉลี่ยการขอใช้เส้นทาง Apple Map มีความสัมพันธ์ไปกับอัตราการพักของจังหวัดนั้นๆ โดยเฉลี่ย กล่าวคือ จังหวัดที่มีค่า Apple Map สูงก็มีแนวโน้มที่จะมีค่า OR สูงตามไปด้วย

แล้วเวลามีวันหยุดยาว คนไปบางจังหวัดมากขึ้น บางจังหวัดลดลง หรือทุกจังหวัดมีคนไปมากขึ้น? 

อาจมีความกังวลที่ว่า เมื่อมีวันหยุดยาวแล้ว อาจทำให้บางพื้นที่เสียประโยชน์หรือไม่ อย่างเช่น พอมีวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้ๆ น้อยลง แต่ไปจังหวัดที่ไกลขึ้นแทน หรือคนในเมืองใหญ่อาจเดินทางออกนอกเมือง ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจในเมืองลดลง 

เพื่อตอบปัญหานี้ เราได้คำนวณค่าเฉลี่ยของดัชนี Apple Map ที่ต่างกันระหว่าง ช่วงวันหยุดยาว และวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีวันหยุดสองวัน เพื่อให้เห็นว่าเมื่อมีวันหยุดยาวแล้ว บางพื้นที่มีผู้ขอใช้เส้นทางน้อยลงหรือไม่ เทียบกับวันหยุดธรรมดา

โดยผลในรูปที่ 5 ได้แสดงว่าจังหวัดแทบทุกจังหวัดมียอดใช้ Apple Map ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสื่อถึงการเดินทางและการพักแรมที่มากขึ้น เมื่อมีวันหยุดยาว โดยมีเพียงกรุงเทพฯ เท่านั้นที่มียอดผู้ใช้ Apple Map ลดลง ซึ่งก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งผลดังกล่าวพอจะบอกได้ว่าเมื่อมีวันหยุดยาว กิจกรรมท่องเที่ยวโดยรวมในแทบทุกจังหวัดมีความคึกคักมากขึ้น 

แล้วกิจกรรมท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากวันหยุดยาว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าเดิมเท่าไร? 

จากผลการวิเคราะห์ดัชนี Apple Map และค่า OR เราประเมินว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ผู้คนจะเดินทางท่องเที่ยวและพักแรมมากกว่าในช่วงวันธรรมดาประมาณ 50% ในขณะที่การเดินทางและพักแรมในช่วงวันหยุดยาวมีมากกว่าช่วงวันธรรมดาประมาณ 1 เท่าตัว

ดังนั้น การสลับวันหยุดกลางสัปดาห์ให้กลายเป็นวันหยุดยาว ใน 1 ครั้ง คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวได้มากขึ้นถึง 30% ในจำนวนวันหยุดที่เท่าเดิม ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านบาท

สำหรับในช่วงที่คนไทยใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวน้อยลงอย่างในปีนี้ และอาจเพิ่มรายได้ได้มากถึง 3.7 พันล้านบาท หากคนไทยใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวเท่ากับในช่วงปี 2019 (ในปี 2019 รายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ แต่ในปีนี้ แม้จะมีการเปิดเมืองแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเหลือเพียงสัปดาห์ละประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น)

การประเมินข้างต้นทำให้เห็นภาพว่า การสร้างวันหยุดยาวช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ดี หากเป็นเช่นนั้นแล้ว จะดีกว่าหรือไม่ที่จะเพิ่มวันหยุดขึ้น เพื่อสร้างวันหยุดยาวแทนการสลับวันหยุดเท่านั้น?

ในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอยู่ เนื่องจากการเพิ่มวันหยุดอาจมีผู้ที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น เช่น ผู้ประกอบการที่ต้องหยุดการดำเนินงาน แต่ยังต้องจ่ายค่าแรงลูกจ้างอยู่ หรือหากผู้ประกอบการเลือกที่จะหยุดตามที่ภาครัฐประกาศ ลูกจ้างประเภทที่ได้ค่าแรงรายวันก็อาจเป็นฝ่ายที่ต้องเสียประโยชน์เนื่องจากต้องขาดรายได้จากการทำงานไป นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการเลือกที่จะไม่หยุดตามที่ภาครัฐประกาศ (ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้) ประสิทธิภาพในการกระตุ้นการท่องเที่ยวก็อาจไม่มากดังที่ภาครัฐคาดไว้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวประสบความท้าทายอย่างหนัก เช่นเดียวกับภาครัฐที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความคุ้มค่าทางต้นทุนจึงยิ่งทวีความสำคัญขึ้น เราพบว่าการสลับวันหยุดกลางสัปดาห์ มาให้ชนกับวันหยุดสุดสัปดาห์ ในแต่ละครั้ง สามารถช่วยกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 พันล้านบาท โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มวันหยุด

จากการประเมินของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นสามารถลดจำนวนผู้กู้ที่อาจมีปัญหาในการชำระหนี้ได้อย่างมาก ดังนั้นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในที่นี้จึงไม่ได้มีผลดีกับเฉพาะกับธุรกิจโรงแรมเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับภาคครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งเพียงแรงงานในอุตสาหกรรมที่พักแรมและร้านอาหารก็มีจำนวนกว่า 2.8 ล้านรายแล้ว

สุดท้ายนี้ แม้ว่าการสลับวันหยุด จะช่วยกระตุ้นพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้คนได้ แต่ก็มีข้อที่พึงระวังบางประการเช่น การประกาศที่กระชั้นไปอาจทำให้นักท่องเที่ยววางแผนไม่ทัน นอกจากนี้ การสร้างวันหยุดยาวที่ตรงกับช่วงมรสุมก็อาจทำให้คนไม่ออกมาท่องเที่ยวมากอย่างที่ควรจะเป็น 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ