พลังความร่วมมือ ดันสังคมไร้ขยะเกิดขึ้นจริง จุดเริ่มต้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย

Economics

Thailand Econ

Content Partnership

Content Partnership

Tag

พลังความร่วมมือ ดันสังคมไร้ขยะเกิดขึ้นจริง จุดเริ่มต้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย

Date Time: 7 พ.ย. 2563 07:00 น.
Content Partnership

Summary

  • ปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นับเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างต้องดิ้นรนหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและกิจกรรมที่จะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ปัญหาโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นับเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างต้องดิ้นรนหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและกิจกรรมที่จะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม

“การจัดการขยะ” เป็นหนึ่งวิธีตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้ผลิตสินค้าไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้ขยะเปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่นำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตได้อีกครั้ง เวที SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” โดยเอสซีจีและพันธมิตร จึงได้เชิญชวนภาคส่วนต่างๆ อาทิ เครือข่ายในกลุ่มสถาบันการศึกษา และออฟฟิศสำนักงาน ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องการจัดการขยะ มาร่วมกันถอดบทเรียนต้นแบบการจัดการขยะ (Waste Management - Recycling Ecosystem and Environmental Saving) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และขยายแนวปฏิบัติให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีตัวช่วยจัดการข้อมูลขยะ

รัมภ์รดา นินนาท รองผู้อำนวยการ เครือข่ายความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ โดยมุ่งนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ โครงการ “วิภาวดีไม่มีขยะ” และ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เพื่อลดขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มการรีไซเคิล และลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีเก็บสะอาด (GEPP S-Ard) เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นตัวช่วยเก็บข้อมูลปริมาณขยะ ติดตาม และประเมินผล พร้อมเชื่อมต่อกับ Solution Providers ทั้ง แอปพลิเคชัน PAPER X ของ SCGP ในการเก็บขยะประเภทกระดาษ และ AIS e-waste ในการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

“โครงการวิภาวดีไม่มีขยะ ได้รับความร่วมมือจาก 31 องค์กรที่ตั้งอยู่ตลอดถนนวิภาวดี โดยแต่ละองค์กรได้เริ่มจัดการขยะภายในองค์กรตนเอง โดยมีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยของทั้งโครงการประมาณร้อยละ 8 เป้าหมายต่อไปคือการเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้ขององค์กรในโครงการให้ได้ร้อยละ 40”

สำหรับโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” เป็นการบริหารจัดการขยะตลอดเส้นทางสุขุมวิท ด้วยการร่วมกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าจัดตั้งจุดคัดแยกขยะ และร่วมกับบริษัทที่รับขยะ นำเข้าสู่ระบบรีไซเคิล รวม 39 ภาคี

“ในช่วง 2 เดือนที่ดำเนินโครงการ ถือว่าได้ผลดีเกินคาด ไม่ใช่เพราะได้ปริมาณขยะถึง 2.2. ตัน แต่กว่าร้อยละ 90 ของขยะที่ผู้บริโภคนนำมาทิ้งเป็นขยะที่สะอาด ทำให้เห็นถึงความตั้งใจในการแยกขยะของผู้บริโภค”

ปัจจัยความสำเร็จต้องเกิดขึ้นจากการที่มีนโยบายที่ชัดเจน สร้างการมีส่วนร่วม มีการสื่อสารและสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้มีการแยกขยะได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อให้ติดตามและประเมินผลได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการหาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกให้ง่าย เก็บข้อมูลได้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น

3 กลวิธี เปลี่ยนจุฬาฯ เป็น Zero Waste Community

วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม PETROMAT และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste มุ่งมั่นที่จะพัฒนาต้นแบบการลดขยะในพื้นที่กลางเมือง ที่มีพื้นที่น้อยแต่มีประชากรหนาแน่นและสร้างขยะจำนวนมาก จึงเริ่มสร้างค่านิยม Zero Waste ด้วยหลัก 3R (Reduce-Reuse-Recycle) คือ ลดการใช้ทรัพยากร นำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด รวมถึงการนำกลับมาเป็นทรัพยากรในการผลิตใหม่ ด้วยการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การสร้างจิตสำนึกและวางเป้าหมายที่จะลดขยะเหลือทิ้งให้ได้ร้อยละ 30 ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยหลากหลายวิธีเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมบุคลากรและนิสิต ทั้ง 1.) เก็บเงินค่าถุงพลาสติกใบละ 2 บาท ทำให้ลดการใช้ถุงพลาสติกในมหาวิทยาลัยได้ถึงร้อยละ 90 เพราะทำให้ผู้ใช้เกิดการคิดก่อนใช้ 2.) ติดตั้งตู้กดน้ำ และแจกกระบอกน้ำให้นิสิตและบุคลากร เพื่อกระตุ้นให้ใช้กระบอกน้ำส่วนตัว และ 3.) นำนวัตกรรมวัสดุที่ย่อยสลายได้มาใช้แทนแก้วน้ำพลาสติกและจัดการอย่างครบวงจร ได้แก่ จัดการให้มีระบบการแยกทิ้งเฉพาะเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในกระบวนการรีไซเคิล ทำให้สามารถนำแก้วไปหมักให้เกิดการย่อยสลายเป็นชีวมวล (Biomass) หรือส่งให้กรมป่าไม้นำไปใช้ทดแทนถุงดำเพาะชำ ซึ่งเป็นการลดการใช้ถุงพลาสติกและยังช่วยให้ต้นกล้ามีอัตราการรอดสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ช่วยลดปัญหาขยะที่เกิดจากแก้วน้ำพลาสติกได้กว่า 2 ล้านใบต่อปี

“เดิมมีขยะอยู่ประมาณ 2,000 ตันต่อปี จากผลการดำเนินงานหลากหลายกิจกรรมใน 4 ปี ช่วยลดปริมาณขยะได้เกือบ 500 ตัน แต่วัสดุที่ย่อยสลายได้เป็นกับดักใหญ่สำหรับประเทศไทย เพราะส่วนมากวัสดุที่ย่อยสลายได้ในท้องตลาดจะเป็นพลาสติกที่แตกสลายและกลายเป็นไมโครพลาสติก ดังนั้น การใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ต้องใช้วัสดุที่มีมาตรฐาน แยกให้ถูกประเภท และย่อยให้ถูกวิธีด้วยกระบวนการจัดการที่มีประสิทธิภาพ หากมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ก็มั่นใจได้ว่าสามารถจัดการขยะได้จริงตามหลัก Circular Economy”

นำร่องพัฒนา “Regen Village” หมู่บ้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

กฤษณ์ แสงวิเชียร ประธานคณะกรรมการ Circular Foundation และอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ยกกรณีศึกษาซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะอาจารย์ และ “Regenerative” สตาร์ทอัพจากสแตนฟอร์ด ที่ร่วมพัฒนา ”Regen Village” ซึ่งเป็นการปฏิรูปชุมชนให้มีการผลิตอาหารปลอดภัย มีระบบการบริหารจัดการขยะอาหาร การอยู่ร่วมกันด้วยการแลกเปลี่ยนเครื่องใช้ การใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพภายในชุมชน โดยได้นำต้นแบบนี้ไปลองพัฒนากับหมู่บ้านใน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน

“หลายประเทศของโลกได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการขยะ แต่ต่อให้เรามีเทคโนโลยีดีแค่ไหน หากความคิดของเราไม่เปลี่ยนก็ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้ ความคิดของผู้นำใน Regen Village เชื่อว่าทุกอย่างเปลี่ยนได้ โดยเริ่มที่ตัวเองและคนรอบตัวก่อน ด้วยการหาคนที่เชื่อและทำเรื่องเดียวกัน แล้วทำให้ทุกคนเห็น เพื่อให้เกิดการขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง เมื่อโครงการสำเร็จแล้ว จะมีการจัดทำชุดความรู้เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาและนำไปประยุกต์ใช้”

4 ขั้นตอนสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ด้าน ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของเพจ “เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา” กล่าวถึงวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมว่ามี 4 ระดับ ประกอบด้วย 1.) การสร้างความตระหนักรู้ ด้วยการสื่อสารเนื้อหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าใจง่าย และมีคุณค่ากับผู้อ่าน 2.) การสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจง่าย และมาถูกเวลา ตรงตามกระแสที่สังคมสนใจ 3.) การสร้างทัศนคติ ที่จุดประกายทำให้เกิดการลงมือทำ จนนำไปสู่ 4.) ความเป็นเจ้าของ

แนวทางที่จะเชื่อมต่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วมนั้น ต้องผสมผสานไปกับกระบวนการ 3C ซึ่งประกอบด้วย การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การสื่อสาร 2 ทาง (Communication) และการสร้างประโยชน์ร่วมกัน (Co-creation) ที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังต้องวัดประเมินผลได้ เพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ถ้าเราเห็นขยะกองอยู่ แล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ของฉัน ก็จะไม่เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ หากทุกคนมองภาพเดียวกัน มีการสื่อสาร สร้างความร่วมมือที่ทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดการร่วมมือกันโดยสมัครใจ นำไปสู่การเปลี่ยนในสังคมอย่างยั่งยืน”

ปลายทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะเกิดขึ้นได้จริง เมื่อทุกฝ่ายในห่วงโซ่ตระหนักรู้ ให้ความสำคัญ และร่วมมือกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างจริงจัง พร้อมกับการบริหารจัดการขยะเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น จนนำไปสู่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ได้อย่างยั่งยืน

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดและเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/3mK09q8 และลงทะเบียนรับชมงาน SD Symposium 2020 “Circular Economy: Actions for Sustainable Future” วันจันทร์ที่ 9 พ.ย. 2563 เวลา 13.30-15.00 น. แบบออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3oSQAXS หรือ QR Code นี้


Author

Content Partnership

Content Partnership