กรมการค้าต่างประเทศเผยไทยจับมือ 26 ประเทศทำหนังสือถึงสหรัฐฯ อ้อนเร่งต่ออายุโครงการจีเอสพีเป็นครั้งที่ 11 หลังจากจะหมดอายุโครงการ 31 ธ.ค.นี้ ย้ำอาจใช้เวลาทำให้ต่ออายุไม่ทันสิ้นปีและไทยต้องกลับมาเสียภาษีในอัตราปกติชั่วคราว
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าในสิ้นปีนี้มีสินค้าไทยอีกหลายรายการจะถูกสหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ว่า ขณะนี้สหรัฐฯอยู่ระหว่างทบทวน โครงการจีเอสพีที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด 119 ประเทศ โดยเป็นรอบการทบทวนรายปี (Annual Review) เพราะโครงการจะหมดอายุในทุกๆสิ้นปี หรือวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งโครงการปัจจุบันจะหมดอายุวันที่ 31 ธ.ค.นี้ และต่ออายุมาแล้ว 10 ครั้ง ในการต่ออายุครั้งนี้ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯได้ร่วมกับเอกอัครราชทูตของ 26 ประเทศที่ได้รับสิทธิทำหนังสือถึงทางการสหรัฐฯ ให้ต่ออายุโครงการแล้ว
“การต่ออายุเป็นผลดีกับทั้งประเทศผู้ส่งออก และสหรัฐฯเอง ที่ผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าในราคาถูกลง แต่ถ้าไม่ต่ออายุ สหรัฐฯก็จะใช้สินค้าไทยแพงขึ้น ในการต่ออายุแต่ละครั้งต้องออกเป็นกฎหมาย และใช้เวลาพิจารณาล่าช้า ทำให้ต่ออายุไม่ทันสิ้นปีนี้ จึงอาจทำให้สินค้าไทยหลายรายการ ต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าอัตราปกติ และผู้ส่งออกไทยสามารถขอคืนภาษีจากศุลกากรสหรัฐฯได้ หลังจากที่สหรัฐฯได้ประกาศต่ออายุโครงการแล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยปัจจุบันสหรัฐฯให้สิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 3,500 รายการ แต่ไทยใช้สิทธิส่งออกจริง 645 รายการ คิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านเหรียญฯ หรือ 83,200 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ จะหมดอายุช่วงสิ้นปีนี้”
ทั้งนี้ กรมฯได้ยื่นเรื่องขอให้สหรัฐฯพิจารณาคืนสิทธิจีเอสพีให้สินค้าไทย 3 รายการ ได้แก่ดอกกุหลาบ กล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ หลังจากที่ถูกตัดสิทธิไปก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีที่สหรัฐฯเพิ่งตัดจีเอสพีสินค้าไทย 231 รายการ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. เพราะไทยไม่เปิดตลาดนำเข้าหมู และผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีน ในเร็วๆนี้ กรมฯจะนัดประชุมผู้ส่งออกสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ เพื่อสอบถามผลกระทบและแนวทางช่วยเหลือ ทั้งการหาตลาดใหม่ การเจรจาจับคู่ทางธุรกิจทั้งทางออนไลน์ และออฟไลน์ เป็นต้น
“ภาคเอกชนเห็นว่าไทยไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯโดยใช้จีเอสพีได้ตลอดไป เพราะจีเอสพีเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯซึ่งสหรัฐฯจะให้หรือไม่ให้ประเทศใดก็ได้ และปีที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ยกเลิกการให้สิทธิกับอินเดีย และตุรกีมาแล้ว ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตลาดสินค้าและบริการ และด้านเกณฑ์ระดับการพัฒนาประเทศตามลำดับ และได้ระงับสิทธิฯบางรายการสินค้ากับยูเครน ด้วยเหตุผลด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ได้ออกบทวิเคราะห์เผยแพร่ผลกระทบจากกรณีดังกล่าวว่า จะส่งผลให้สินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราปกติ 3-4% โดยมี 147 รายการที่ผู้ส่งออกใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่ารวม 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากต้องกลับไปเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติที่ 3-4% คิดเป็นมูลค่าภาษีที่ต้องเสียประมาณ 19 ล้านเหรียญฯ หรือ 600 ล้านบาท สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ พวงมาลัยรถยนต์ เป็นต้น โดยเคทีบีมีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยจากประเด็นนี้ เนื่องจากไม่ได้หมายความว่าสินค้าไทยถูกห้ามส่งออกไปสหรัฐฯ แต่ยังส่งออกได้ปกติและกระทบเพียง 600 ล้านบาท เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐานแม้ภาษีสูงขึ้น คงไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก เพราะผู้นำเข้าสหรัฐฯยังต้องการสินค้าไทย.