นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังเปิดตัวการให้บริการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Withholding Tax ว่า ธนาคารที่เปิดให้บริการ e-Withholding Tax ประกอบด้วย 11 ธนาคาร ได้แก่ กรุงไทย, กสิกรไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), กรุงเทพ, มิซูโฮ, กรุงศรีอยุธยา, ไทยพาณิชย์, ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้งฯ, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด, ทหารไทยและแลนด์แอนด์เฮาส์
โดยระบบ e-Withholding Tax ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือผู้จ่ายเงิน ธนาคาร ผู้ให้บริการระบบ ผู้รับเงินซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และกรมสรรพากร โดยผู้จ่ายเงินจะจ่ายเงินผ่านธนาคารพร้อมแจ้งข้อมูลที่กำหนด เมื่อธนาคารได้รับเงินแล้วจะออกหลักฐานเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน พร้อมทั้งจ่ายเงินหลังหักภาษีให้แก่ผู้รับเงินและนำส่งข้อมูลและภาษีที่หักไว้ไปยังกรมสรรพากรภายในเวลาไม่เกิน 4 วันทำการ ถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงิน จากนั้น กรมสรรพากรจะออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่ผู้จ่ายเงิน กรณีนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายขาดไป ผู้จ่ายเงินสามารถนำส่งภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบนี้ได้เช่นเดียวกัน โดยสามารถตรวจสอบหลักฐานหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายได้ตลอดเวลาที่เว็บไซต์กรมสรรพากร
ทั้งนี้ปัจจุบันกรมมียอดการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการบริการรับจ้างทำของหรือบริการต่างๆ ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้เมื่อลดอัตราภาษีการหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2% จะช่วยให้ผู้รับเงินหรือผู้รับจ้างทำของหรือบริการต่างๆมีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่ากรมไม่ได้สูญเสียรายได้ตรงนี้ไป.