เศรษฐกิจไทยสุดหิน วิบากกรรมยาวนาน เปิดแนวทางคลี่คลาย สร้างเชื่อมั่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทยสุดหิน วิบากกรรมยาวนาน เปิดแนวทางคลี่คลาย สร้างเชื่อมั่น

Date Time: 6 พ.ย. 2563 00:01 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบการส่งออก และท่องเที่ยวของไทย ยืดเยื้อยาวไปจนถึงปีหน้า

Latest


เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาล ท่ามกลางปัจจัยรุมเร้าจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบการส่งออก และท่องเที่ยวของไทย ยืดเยื้อยาวไปจนถึงปีหน้า ยิ่งเพิ่มตัวเลขคนว่างงานในอัตราที่สูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึงความร้อนแรงทางการเมืองที่ยากจะหาทางออก ทำอย่างไรต้องสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กลับคืนมาโดยเร็ว ต้องรองรับต่อสถานการณ์การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

พิษเศรษฐกิจ ยังมีผลต่อปากท้องคนไทยจำนวนมาก ต้องเร่งหามาตรการและลดอุปสรรคบางอย่าง เพื่อเดินหน้าแก้ไขให้ทันท่วงที โดยมุมมองของ "ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี" อาจารย์เกียรติคุณ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการเจรจาตกลงการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่า ปัญหาเศรษฐกิจอย่างแรกเกิดจากระบบการทำงานของรัฐบาลมีความสับสน ทำให้คนเก่งๆ ไม่อยากเข้ามา เพราะเป็นงานที่หนักมาก มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลว จนทำให้เสียชื่อเสียง และสิ่งสำคัญคนทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต้องเก่งเรื่องการเงินการธนาคาร ต้องสามารถหาวิธีเอาเงินไปให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างไร

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

อีกอุปสรรคหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ในการกำกับดูแลรัฐมนตรี ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโควิด ถือเป็นการบริหารที่วิปริตที่สุด ทำให้การทำงานไม่ทันการณ์ ควรต้องยกเลิก ศบค. ให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการเมืองเห็นด้วยอย่างมากกับข้อเสนอของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างถอยทีละก้าว เพื่อให้ประเทศมีทางออก แม้การจะให้กลุ่มผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ถอย คงเป็นไปได้ยาก ก็ต้องมาคุยกัน

“การบริหารจัดการของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลง เป็นการแก้ปัญหาการเมือง ควบคู่กับเศรษฐกิจ และการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ไม่ใช่ประเด็น แต่ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโควิดได้แล้ว เพราะปัญหาเศรษฐกิจได้กระจุกตัวไปหลายๆ เซกเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มบริการ ท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่ามาตรการกระตุ้นยังน้อยไป เพราะเราพึ่งพาต่างประเทศมากเกินไป

ควรโฟกัสในแต่ละเซกเตอร์ให้ครอบคลุม ทั้งค้าปลีก เอสเอ็มอี และแบงก์ เช่น ทำให้แบงก์ มีแคชโฟลว์ ให้ลูกหนี้ผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย ไม่ต้องผ่อนเงินต้น เพื่อป้องกันหนี้เน่า เป็นระยะเวลาปีกว่า คาดว่าทุกอย่างจะดีขึ้นกลางปีหน้า หรือใช้เวลา 2 ปีน่าจะดีขึ้น ปัญหาขณะนี้มันไม่ใช่วิกฤติแบบระเบิดลง แต่เป็นวิกฤติที่จะยาวนานกว่า เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นล้มของสถาบันการเงิน"

แก้เศรษฐกิจยาก โจทย์สุดหิน วิบากกรรมยาวนาน

แนวทางแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นขณะนี้ ต้องเริ่มจากการประคับประคอง ค่อยๆ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่าแก้ยากมาก เนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่เคยเข้าประเทศ จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ขณะนี้เหลือเพียง 1.2 ล้านล้านบาท จากคนไทยเที่ยวไทย ซึ่งหายไปครึ่งหนึ่ง อีกทั้งเซกเตอร์การส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้ เนื่องจากยุโรปและอเมริกายังไม่คลี่คลายจากวิกฤติโควิด จะทำให้ต้องเจอวิบากกรรมอีกนาน ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังในปี 2564

แม้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่รัฐบาลต้องทำอย่างไรให้คนในสังคมอยู่ได้ ทั้งการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในการออกมาตรการต่างๆ และในปีหน้า อาจต้องกู้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท ในการประคับประคองสถานการณ์ และอีกหนึ่งแนวทางน่าจะทำได้เหมือนสหรัฐฯ ต้องห้ามยึดบ้าน ทั้งบ้านเช่า และบ้านที่ซื้อ ไม่สามารถผ่อนต่อได้ จะต้องไม่ตัดน้ำตัดไฟ โดยรัฐบาลเข้ามาชดเชยงบประมาณบางส่วน และช่วยเรื่องอาหารให้กับคนที่ทุกข์ยาก เพื่อให้คนไม่มีเงินออมได้พอมีชีวิตอยู่ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงินมากพอ ควรปรับเปลี่ยนมาช่วยเหลือในเรื่องการให้อาหารฟรี หรือการให้คูปอง

ในส่วนแนวคิดนี้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ควรเข้ามามีบทบาทให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือในเรื่องสวัสดิการให้กับกลุ่มคนที่เดือดร้อน เป็นระยะเวลา 1-2 ปี คาดใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาท และหากมีการแจกคูปอง ควรเป็นคูปองที่สามารถเปลี่ยนมือได้ คล้ายเงินสด เพื่อนำไปหมุนในการใช้จ่าย แม้อาจจะเพิ่มภาระให้กับภาครัฐก็ตาม แต่ดีกว่าต้องไปกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งแนวคิดนี้อาจช่วยได้บ้าง แต่อย่างน้อยได้ช่วยเหลือกลุ่มคนเดือดร้อนมีความทกุข์ยาก

อีกเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันการเงิน อาจพิจารณาให้เอสเอ็มอี สามารถผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย และปรับเกณฑ์ใหม่ ไม่ต้องตั้งสำรองให้เป็นภาระกับสถาบันการเงิน หรือหากเกิดวิกฤติจริงๆ ทางภาครัฐต้องเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน เพื่อรองรับหนี้เสียประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดว่าคงไม่ทุกสถาบันการเงิน และโดยภาพรวมแล้วประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าปี 2540 จากบทเรียนวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต ซึ่งแบงก์ชาติจะต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก 2-3 ปี เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ควรมีการค้ำประกันสินเชื่อ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ เพื่อให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีให้มากขึ้น อาจมีการค้ำประกันส่วนหนึ่ง เช่น กู้ 2 ล้านบาท มีการค้ำประกัน 1 ล้านบาท โดยเปิดเสรีให้บริษัทประกันจากต่างประเทศเข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ เนื่องจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันไปแล้ว 1 แสนล้านบาท จึงไม่สามารถค้ำประกันได้อีก

“ปัญหาตรงนี้สำคัญมาก อยากให้มือดีด้านการเงินการธนาคารมาเป็นที่ปรึกษาภาครัฐ เพราะขณะนี้เท่าที่ประเมินมีคนว่างงาน น่าจะเป็นล้านคนแล้ว คาดต้องรออีก 2 ปี ทุกอย่างจะดีขึ้น เพราะปีหน้าจีดีพีหดตัวมากถึง 7-8% หรือโตเต็มที่แค่ 2 หรือ 3% เท่านั้น ที่ผ่านมาไม่ได้โทษรัฐบาล กระทั่งมาเจอปัญหาการเมืองซ้ำเติมเข้ามาอีก

ส่วนตัวมองว่าในระบอบประชาธิปไตย เห็นต่างได้ แต่ไม่ควรทำลายกัน และห่วงในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยังแก้ไม่ได้ ต้องถอยคนละหลายๆ ก้าว เพื่อชาติ เพราะเรามีเงินจำกัด ควรนำไปช่วยคนที่ลำบาก เพื่อให้พวกเขาอยู่รอด และต้องยอมรับขณะนี้หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงมาก ไม่มีใครมีเงินไปชิมช้อปใช้ แม้มาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง จนมีคนตั้งคำถามเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ทำไมรัฐบาลยังคงทำงานเหมือนเดิม เกรงว่าหากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น จะยิ่งเพิ่มมวลชนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลมากขึ้นอีก นั่นคือส่ิงที่กังวล”

ส่วนในอนาคตประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในประเด็นนี้ยิ่งทำให้กังวลหนัก หากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ เนื่องจากในอนาคตเงินของแผ่นดินจะนำไปใช้กับผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้นควรปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการให้เล็กลง เพื่อลดต้นทุนงบประมาณไม่ให้เป็นภาระทางการคลัง อีกทั้งระบบราชการของไทยมีความล้าหลัง 20 ปี จากการออกมาระบุของทีดีอาร์ไอ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และจ้างบริษัทเอาต์ซอร์สในการทำงานแทน ให้เหลือเฉพาะเรกูเลเตอร์ในการกำกับดูแล ซึ่งต้องเริ่มปรับเปลี่ยน เหมือนการเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยให้ออกจากระบบราชการ ในการเลี้ยงดูตัวเองให้ได้

กลางปีหน้าสาหัสสุดๆ แนะทางออกกระตุ้นบริโภค

เช่นเดียวกับ "ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ แสดงความกังวลเนื่องจากสถานการณ์คนว่างงานในไตรมาส 2 ปีนี้ ถือว่าหนักสุดๆ มีคนตกงาน 7 แสนกว่าคน และไตรมาส 3 ออกอาการรุนแรงและเห็นชัดมากขึ้น โดยอีก 2.5 ล้านคน อยู่ในข่ายตกงานเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ประกอบการที่สายป่านไม่ยาวพอ ไปต่อไม่ไหว ต้องเลิกจ้างพนักงาน ยอมจ่ายค่าชดเชย และมองว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ไปจนถึงกลางปีหน้า คาดต้นปีหน้าอาจมีคนตกงาน 2-3 ล้านคน ต้องออกจากระบบการทำงาน โดยไม่มีเงินออม เงินเก็บ จนไม่มีจะกิน ซึ่งรัฐบาลต้องรีบเข้ามาอุดหนุน ไม่ให้เกิดปัญหาสังคมตามมา

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ

ส่วนแนวทางที่ดีที่สุด อยากเสนอให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่ได้รับเงินบำนาญ ประมาณ 5-6 ล้านคน ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากขณะนี้การบริโภคภาคเอกชนหยุดชะงักไม่เดินหน้า ระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งจะกลายเป็นเงินฝืด เพราะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ทำให้เศรษฐกิจขณะนี้เข้าขั้นยากลำบาก ไม่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุน ต้องอาศัยการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ นอกจากนี้ภาครัฐควรสนับสนุนสินค้าโอทอปในการงาน เพื่อสร้างดีมานด์เทียม ไม่เช่นนั้นแล้วกลางปีหน้าจะทรุดหนักมาก

อีกข้อเสนอแนะเพื่อช่วยเหลือคนไม่มีงานทำ และช่วยนักศึกษาจบใหม่ เห็นว่ารัฐบาลควรจัดอบรมพัฒนาทักษะ หรือว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่ช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้จ้างพนักงานแบบรายชั่วโมง โดยกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ต้องออกประกาศชั่วคราวเพื่อสนับสนุนให้มีการจ้างรายวัน ไม่อิงค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งไม่น่าจะขัดกฎหมาย ภายหลังพบว่าอุตสาหกรรม 22 สาขา ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี และแทบไม่กลับมาเป็นปกติ ส่วนอุตสาหกรรมหนักบางประเภทยังพอไปได้ รวมถึงอาชีพที่เกี่ยวกับไอที

ก่อนหน้านั้นตัวเลขคนมีงานทำ ประมาณ 38 ล้านคน และเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด ได้ทำให้คนตกงานไปแล้วเกือบ 8 แสนคน และเมื่อรวมกับตัวเลข 2.5 ล้านคนที่ไม่มีงานทำ เนื่องจากบริษัทไม่ป้อนงานให้โดยไม่จ่ายเงินเดือน ก็เท่ากับว่าประชากรทั้งประเทศมีงานทำ 37.2 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 19 ล้านคน ทำงานในแต่ละวันไม่ถึง 4 ชั่วโมง โดยมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 40 บาท หรือมีรายได้ต่อวันเพียง 160 บาท ซึ่งน้อยมาก

นอกจากนี้คาดว่าผู้ประกอบการจะปิดกิจการอีกเป็นจำนวนมากในกลางปีหน้า หากประเมินแล้วเฉพาะเด็กจบใหม่ จำนวน 3 แสนคน จะมีงานทำเพียง 10% เท่านั้น และยังไม่รวมเด็กจบใหม่ไปก่อนหน้าที่รองานอีก 1 แสนคน รวมแล้ว 4 แสนคน ต้องแย่งงานกัน จึงมองว่ากลางปีหน้าจะหนักมากกว่านี้ เพราะมองไม่เห็นแสงสว่าง หากรัฐบาลไม่รีบเข้าไปแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

@@@@@@@@@


ร่วมติดตามงานเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18:30-21:00 น.
ผ่าน Live ทุกช่องทางของไทยรัฐ ได้แก่

Facebook: Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
Facebook: ThairathTV
YouTube: Thairath

ติดตามรายละเอียดได้ที่
https://www.thairath.co.th/news/business/1970951


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ