สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบระยะยาวต่อ เศรษฐกิจมหภาค การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ อย่าง ประเทศไทย คาดว่าจะติดลบกว่าร้อยละ 10.4 ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ จีดีพี ติดลบกัน
ทุกประเทศ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ภาษีก็เก็บไม่ได้ การท่องเที่ยว การบริการ การบิน การเดินทาง หยุดชะงัก เป็นอัมพาตไปครึ่งซีก
นอกจากเรื่องของรายได้รายจ่ายแล้ว การว่างงาน ตกงาน ปัญหาปากท้องชาวบ้านเป็นปัญหาเฉพาะหน้า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวก็ไม่ต่างจาก อัฐยายซื้อขนมยาย เพียงแต่ว่าทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบ รอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนให้คลี่คลายไปได้บ้างเท่านั้น เพราะถ้าไม่มีการเยียวยาซื้อเวลาต่ออายุของชาวบ้าน เศรษฐกิจจะพังทั้งระบบ เหลือแค่ว่าจะต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรเทาลงเมื่อไหร่เท่านั้น
การกระตุ้นการใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด บางประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกันเช่นในยุโรปพยายามที่จะเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวได้แต่เป็นเพียงชั่วคราวเพราะโควิดกลับมาระบาดรอบสองทันที
อีกวิธีคือ การลดต้นทุนของประเทศ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ลดความฟุ่มเฟือย เช่น ภาคเอกชนที่ลดภาระค่าใช้จ่ายโดยการลดคน ลดงานเพื่อปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด
นอกเหนือจาก การปรับโครงสร้างการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นการเร่งด่วนแล้ว การนำเทคโนโลยี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งบางเรื่องก็เป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้ว เช่นการบริการแบบ One Stop Service เพียงแต่ว่าต้องนำมาปัดฝุ่นเอาจริงเอาจัง
หรืออย่างเมื่อเร็วๆนี้ที่ กลุ่ม ปตท. เปิดตัวโครงการ โซลาร์ลอยน้ำทะเล เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล นวัตกรรมพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน โดยผู้บริหาร วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. อธิบายว่า โครงการ ดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ในพื้นที่ของ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล ซึ่ง พีทีที โกลบอล เคมิคอล ได้มีการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดเอพิเศษ นำมาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้น โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. ได้ให้ บริษัทผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วมออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนผิวน้ำทะเล ทำงานกันเป็นทีม
ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ได้ปีละ 390,000 บาท ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 36 ตัน มีการต่อยอดโครงการนำไปใช้กับภาคเอกชนที่จะสามารถ ประหยัดพลังงานได้อีกมหาศาลในต่างประเทศ เช่น เดนมาร์ก มีการทดลองการใช้พลังงานหมุนเวียน นำกังหันลมไปตั้งบนน้ำทะเล ปรากฏว่าประหยัดการใช้พลังงานและเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมากจนสามารถที่จะทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากการผลิตโรงไฟฟ้าหลักได้ การลดต้นทุนของประเทศมีอีกมาก เพียงแต่ว่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ กันจริงจังแค่ไหนเท่านั้น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th