นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการแถลงข่าวตัวเลขเศรษฐกิจในเดือน ส.ค.2563 โดยเศรษฐกิจปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามมูลค่าการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวหลังจากปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวในเดือนก่อนหมดลง สำหรับภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่
“ธปท.ประเมินว่าในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ตัวเลขการหดตัวของเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆลดลง โดยจะติดลบเป็นเลขตัวเดียว จากไตรมาสที่ 2 ที่ปรับตัวลดลงกว่า 12% โดยคาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะติดลบประมาณ 8.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกติดลบ 7% ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยติดลบ 7.8%”
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปนั้น นายดอน กล่าวว่า จะค่อยๆทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์ของกิจกรรมเศรษฐกิจที่สูงขึ้น หากไม่มีการระบาดรอบ 2 ของโควิด-19 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ ธปท.มีความเป็นห่วงยังคงเป็นเสถียรภาพด้านแรงงาน เพราะถึงแม้ตัวเลขว่างงานลดลงจาก 2% ในเดือนก่อนหน้า ลดลงเหลือ 1.9% ในเดือนนี้ แต่ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นจาก 410,000 คนเป็น 440,000 คน จึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพราะยังคงเห็นความเปราะบางซ่อนอยู่
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 8.2% ในเดือน ส.ค. หากไม่รวมการส่งออกทองคำในเดือนนี้ที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 13.6% อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีนหลังจากเร่งไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง โดยติดลบ 9.3% ในเดือน ส.ค. เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังติดลบ 4.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่อง 100% มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 19.1% เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว ขยายตัวติดลบ 1.1% โดยรายได้ของเกษตรกรขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.1%.