“แอตต้า” เสนอให้รัฐบาลยอมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากจีน ไต้หวันเข้ามาเที่ยวในไทย แบบไม่กักตัว แต่ให้มีมาตรการดูแลอย่างเข้มงวดแทน ในเดือน ธ.ค.นี้ กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปีใหม่และตรุษจีนปีหน้า คาดว่าจะมีคนเข้ามาในไทยแสนคนต่อเดือน สร้างรายได้ 5,000 ล้านบาท
นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า แอตต้าต้องการให้รัฐบาลพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วไปจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโควิดต่ำมากกว่า 60 วันขึ้นไป เช่น จีน และไต้หวัน เข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่กักตัว เพราะถ้ายังกำหนดให้มีการกักตัว คงไม่มีนักท่องเที่ยวทั่วไปคนใดอยากมาเที่ยว โดยสามารถใช้มาตรการดูแลอย่างคุมเข้ม กำหนดให้มีการเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น ควบคุมพื้นที่ที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยว และสามารถติดตามตัวได้
“เราต้องกล้าเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แบบไม่กักตัว หากเป็นไปได้อยากให้เริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งมีชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อเดือน พำนักอยู่ 5-7 วัน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท สร้างกระแสการเดินทางที่ดี ไปถึงช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนในต้นปีหน้า”
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 700 ราย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 60 (ระดับปกติเท่ากับ 100) แม้ว่าจะสูงกว่าที่ผู้ประกอบการได้คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 37 เมื่อไตรมาส 2 และดีกว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯเมื่อไตรมาส 2 ที่ลดลงเหลือที่ระดับ 12 เนื่องจากมีการคลายล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังถือว่าต่ำกว่าไตรมาส 3/2562 ในระดับมาก ที่มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 91 เพราะยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกกดดันอยู่
“แม้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นฯจะฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวถูกล็อกดาวน์ แต่เนื่องจากโควิด-19 ยังแพร่ระบาดทั่วโลก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเป็นศูนย์ต่อเนื่อง 6 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.ทำให้ผลประกอบการของธุรกิจท่องเที่ยว ยังคงหดตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา”
สำหรับรายงานดัชนีความเชื่อมั่นฯในไตรมาส 3 เมื่อจำแนกตามประเภทของสถานประกอบการ พบว่าผู้ประกอบการสถานบันเทิง ประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวอยู่ที่ระดับ 42 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมามากกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ แต่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งประเมินไว้เป็นศูนย์ เพราะมีคำสั่งล็อกดาวน์
รองลงมาคือธุรกิจที่พักแรมอยู่ที่ระดับ 48, สวนสนุกและธีมพาร์ค อยู่ที่ระดับ 50 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการยังอยู่ในระดับลดลงกว่าช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมาในระดับมากที่สุด ส่วนธุรกิจนวดและสปาอยู่ที่ระดับ 60, ธุรกิจนำเที่ยวอยู่ที่ระดับ 68, ร้านอาหารอยู่ที่ระดับ 73 และธุรกิจขนส่งอยู่ที่ระดับ 74 ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก ด้านธุรกิจสินค้าที่ระลึกอยู่ที่ระดับ 89 ประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยว ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับต่ำกว่าปกติ
“สถานการณ์การท่องเที่ยวไตรมาส 4 ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 63 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดหวังว่าสถานการณ์ท่อง-เที่ยวในไตรมาสนี้ จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 เล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซัน แต่ยังคาดว่าผลประกอบการจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก โดยเมื่อไตรมาส 4/2562 ดัชนีความเชื่อมั่นฯอยู่ที่ระดับ 88”
ทั้งนี้ สทท.คาดว่าไตรมาส 4 จะมีนักท่อง-เที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 50,000 คน ลดลง 99.52% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4,500 ล้านบาท ลดลง 99.11% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และคาดว่าสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปีรวม 6.74 ล้านคน ลดลง 83.07% จากปีที่ผ่านมา และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 336,513 ล้านบาท ลดลง 82.59% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของรัฐบาลในไตรมาส 4 นี้
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเภทพิเศษ หรือ Special Tourist VISA (STV) ที่ 1,200 คนต่อเดือน เข้ามาพำนักแบบระยะยาว (ลองสเตย์) เริ่มเดือน ต.ค.นี้ สทท.มองว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากพอ ที่จะหล่อเลี้ยงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ส่งผลให้สุ่มเสี่ยงกลับไปปิดกิจการชั่วคราวอีกครั้ง (Reclose) โดยเฉพาะกิจการในพื้นที่ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก อาทิ ภูเก็ต สมุย พัทยา และเชียงใหม่.