สำเร็จแล้วตั้งบริษัทลูกรถไฟ ล้างหนี้แสนล้านเสร็จใน 30 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สำเร็จแล้วตั้งบริษัทลูกรถไฟ ล้างหนี้แสนล้านเสร็จใน 30 ปี

Date Time: 30 ก.ย. 2563 08:47 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบ รฟท.ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์สักกะที คาด 30 ปี มีรายรับ 631,628 ล้านบาท จากการบริหารที่ดินทำเลทองในมือ 38,469 ไร่ มูลค่า 300,000 บาท

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ครม.เห็นชอบ รฟท.ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์สักกะที คาด 30 ปี มีรายรับ 631,628 ล้านบาท จากการบริหารที่ดินทำเลทองในมือ 38,469 ไร่ มูลค่า 300,000 บาท ให้สามารถล้างหนี้ปัจจุบัน 177,611 ล้านบาทได้เกลี้ยงเกลา เคาะเพิ่มกรอบวงเงินรถไฟเร็วสูงกรุงเทพ–หนองคาย จาก 38,558 ล้านบาท เป็น 50,633 ล้าน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. โดยใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้ รฟท. กู้ยืมเงิน 200 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนเป็นทุนจดทะเบียน โดยที่ รฟท.รับภาระต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินรวมถึงพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานถึงความจำเป็นในการจัดตั้งบริษัทลูกว่า รฟท.มีที่ดินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ 38,469 ไร่ มูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่มีรายได้ผลตอบแทนจากการบริหารสินทรัพย์ประมาณปีละ 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของมูลค่าสินทรัพย์ เนื่องจากการบริหารสินทรัพย์ไม่ใช่กิจกรรมหลักที่ รฟท.มีความชำนาญเฉพาะด้าน ทำให้ไม่สามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาบริหารจัดการได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นที่ต้องจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อบริหารสินทรัพย์เป็นกิจกรรมหลัก

สำหรับรายได้ของบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด จะมาจาก 3 ส่วนคือ 1.ค่ารับจ้างบริหารสัญญาเช่าเดิม 15,270 สัญญา โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของ รฟท. 2.การให้เช่าช่วง ร่วมทุน หรือพัฒนาที่ดินเดิมที่หมดอายุสัญญา 3.รายได้จากโครงการร่วมลงทุนกับเอกชนและการพัฒนาพื้นที่ดินเปล่าแปลงอื่นๆ และในอนาคตอาจมีรายได้จากการขายกระแสเงินสดในอนาคตให้กับกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ส่วนผลประโยชน์ที่ รฟท.จะได้รับ จะมีรายได้จากบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด มาลดภาระหนี้สิน โดยประมาณการผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้รับในระยะเวลา 30 ปี จะอยู่ที่ 631,628 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาแก้ไขปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 มีภาระหนี้สินรวม 177,611 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบปรับกรอบวงเงินและร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างสัญญางาน ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ฉบับสมบูรณ์ โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) จากที่ ครม. เคยอนุมัติไว้เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560 จาก 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือเพิ่มขึ้น 12,075.12 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ทั้งนี้ในส่วนของกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1.การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า โรงเชื่อมรางและกองเก็บ และโรงกองเก็บราง จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ 2.การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่เทคโนโลยีดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท

3. การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพตลอดจนมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานีซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท 4.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่าง และอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ