ไกลโฟเซต..ก่อมะเร็ง เคมีพิษร้ายต้องแบน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไกลโฟเซต..ก่อมะเร็ง เคมีพิษร้ายต้องแบน

Date Time: 28 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • รอยเตอร์ตีแผ่ “จนท.สหรัฐฯ บริษัทเอกชน” ล็อบบี้ไทยเลิกแบนไกลโฟเซต เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

รอยเตอร์ตีแผ่ “จนท.สหรัฐฯ บริษัทเอกชน” ล็อบบี้ไทยเลิกแบนไกลโฟเซต เผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 โดยมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือ บริษัทเอกชนที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของโลก

“BIOTHAI” เฟซบุ๊กเพจ ระบุว่า ได้รับอีเมลลับของรัฐบาลสหรัฐฯ หลายฉบับซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างผู้บริหารในหน่วยงานระดับสูง เช่น ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรกับผู้บริหารไบเออร์มอนซานโต้ ที่ผนึกกำลังกันล้มการแบนสารเคมีกำจัดวัชพืชก่อมะเร็ง “ไกลโฟเซต” ในประเทศไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

เนื้อหาในอีเมลบางส่วนที่เป็นข้อมูลอ่อนไหวถูกคาดด้วยแถบสีดำ แต่ก็เพียงพอที่ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของบริษัทเอกชนกับรัฐบาลสหรัฐฯและบางกลุ่มในประเทศไทย

อีเมลฉบับนี้ส่งโดย Lisa M Anderson เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ก่อนการลงมติล้มการแบนไกลโฟเซต 5 วัน โดยเป็นการประมวลวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญจากการพบปะกับกลุ่มต่างๆในประเทศไทย

เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯในการล้มมติการแบนสารพิษ

น่าสนใจว่ามีรายละเอียดกล่าวถึงท่าทีของภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีและกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระทรวงสาธารณสุข” และ “กระทรวงเกษตรฯ”

พวกเขาประเมินว่า การขับเคลื่อนการแบนในฟากรัฐบาลนั้นนำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล และ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่ง เป็นพันธมิตรกับพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรัฐบาล ส่วนจุดยืนของ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี นั้นปล่อยให้มีการดำเนินการให้เป็นตามขั้นตอนของกฎหมาย

พวกเขากล่าวถึง ไบโอไทย (BIOTHAI) ว่าได้ประกาศต่อต้านบรรษัทข้ามชาติ (ส่วนใหญ่เป็นบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ) ที่มุ่งล้มการแบนโดยเป็น ผู้ชี้ว่า เท็ด แมคคินนีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการยุติการแบนไกลโฟเซตนั้น มีความสัมพันธ์กับบริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

ถัดมาไม่กี่วัน...ก็มีข้อมูลใหม่จากนักข่าวชื่อดัง Carey Gillam ผู้เขียนหนังสือ White wash เปิดโปงเบื้องหลังและหลักฐานความร่วมมือระหว่างบริษัทไบเออร์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯล้มการแบนไกลโฟเซตในประเทศไทย ดังเป็นที่ทราบแล้วว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายของประเทศไทยมีมติให้...

แบน “ไกลโฟเซต” และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอีก 2 ชนิด คือ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 แต่ต่อมาหลังจาก เท็ด แมคคินนีย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของไทยและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยอ้างว่าการแบนไกลโฟเซตของไทยไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานการประเมินความเสี่ยงของสหรัฐฯ และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวสาลีและสินค้าเกษตรบางรายการ ซึ่งอาจพบการตกค้างของไกลโฟเซตจากสหรัฐฯมาสู่ประเทศไทยนั้น ปรากฏว่า...วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 “คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่” ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ได้เปลี่ยนแปลงมติดังกล่าว โดยยกเลิกการแบนไกลโฟเซต และเลื่อนการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปจากวันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 แทน

เมื่อวันพุธที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา องค์กรสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯได้ยื่นฟ้องกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯให้เปิดเผยข้อมูลอีกหลายชิ้นเพิ่มเติม เพื่อให้มีการเปิดเผยเอกสารการติดต่อระหว่างหน่วยงานทั้งสองกับบริษัทไบเออร์และบริษัทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการกดดันให้ “ประเทศไทย” ยกเลิกการแบน “ไกลโฟเซต”

เกี่ยวกับประเด็นร้อนนี้ ยังมีเนื้อหาต่อเนื่องอีกหลายช่วงตอน ติดตามอ่านต่อได้ที่ FB Page : “BIOTHAI”

Nathan Donley นักวิทยาศาสตร์อาวุโส Center for Biological Diversity ระบุว่า เป็นเรื่องแย่มากๆที่ทางการสหรัฐฯเพิกเฉยข้อมูลเรื่องผลกระทบของไกลโฟเซตจากนักวิทยาศาสตร์อิสระ

“ยืนยันตามไบเออร์ว่าไกลโฟเซตปลอดภัยอย่างมืดบอด และการที่หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัท...กดดันให้ประเทศอื่นยอมรับ แบบเดียวกับตนนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่แทรกแซงคุกคามประเทศอื่น”

“ไกลโฟเซต” เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชก่อมะเร็งชั้น 2A ตามการกำหนดของสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ปัจจุบันบริษัทถูกฟ้องร้องโดยประชาชนอเมริกันที่ได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งแสนคดี

และไบเออร์มอนซานโต้ ตกลงใจที่ทุ่มเงินกว่าสามแสนล้านบาทเพื่อไกล่เกลี่ยคดี ซึ่งต้องชดใช้เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ไกลโฟเซต

ผ่านวัน...ผ่านคืนหลายๆคนจับจ้องติดตามความเคลื่อนไหวชนิดไม่กะพริบตาเพราะกลัวว่าจะมีกลเกมซับซ้อนซ่อนเงื่อนใช้เหลี่ยมเล่ห์ไม่ให้เกิดการแบน 3 สารพิษขึ้นจริงตามคลื่นกระแสข้อมูลที่เกิดขึ้นนี้

ในมุมมอง สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า คิดว่ายังไง ก็ไม่ยกเลิกการแบน แต่อีกตัวก็มีข้อมูลว่ามีความเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลังที่จะทำให้ไม่เกิดแบน ก็คือ “ไกลโฟเซต” ตัวเดียวที่ดึงออกมาแล้ว

สองตัวแบนไปแล้ว คือ “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” แต่ก็มีความพยายามที่จะให้ทบทวนการแบนสารเคมีอันตราย “ไกลโฟเซต” ทั้งๆที่ยังมีเงื่อนสำคัญมีการฟ้องคดีกันอยู่ที่ศาลปกครอง แล้วเราก็ไปร้องสอดรับเป็นจำเลยร่วม มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคก็ต้องทำคำให้การ

“แนวทางก็คือคิดว่าอยากให้รณรงค์ยกเลิกไกลโฟเซตต่อ คนไทยทุกคนลองคิดดูว่า...ในขณะนี้บริษัทมอนซานโต้ยอมจ่ายสามหมื่นกว่าล้านให้กับคนที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในอเมริกาซึ่งเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ฉะนั้นถ้าไม่ได้เป็นมะเร็งจริงจากสารเคมีตัวนี้ ทำไมจึงยอมเยียวยา”

แต่จะมายกเลิกการแบน “ไกลโฟเซต” ในเมืองไทย คงยอมกันไม่ได้

สารี บอกอีกว่า ล่าสุด...ที่เราตรวจถั่วเหลืองก็พบมีการตกค้างของไกลโฟเซต แม้ว่าจะไม่เกินมาตรฐานแต่ก็พบว่ามีการตกค้าง...ไกลโฟเซต เอาไว้ใช้ฆ่าหญ้า ถั่วเหลือง ข้าวโพด จริงๆเป็นสารเคมีที่อันตรายมาก

แนวโน้มจะเดินหน้าต่อไปยังไง จะ “ยกเลิก” ได้ไม่ได้ยังไม่รู้ แต่อย่างไรก็ต้องรวมพลังร่วมกันเดินหน้าเพื่อที่จะยกเลิกทุกช่องทางที่จะทำให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกอย่างเสรี

“ไกลโฟเซต” ย้ำว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็ง หลายๆประเทศก็มีความพยายามที่จะยกเลิกการใช้ ห้ามนำเข้า ห้ามผลิต เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 คำถามสำคัญมีว่า...คลื่นใต้น้ำ ที่ทำเรื่องนี้ รุนแรงมากน้อยอย่างไร

“ความพยายามยกเลิกการแบน คงมีไม่ใช่น้อย ส่วนหนึ่ง สำหรับเกษตรกรที่ตรงไปตรงมา...ไม่ใช่เกษตรกรที่เป็นตัวแทนบริษัท พูดกันตรงๆอย่างหลังก็คงต้องดิ้นสุดตัว พวกนี้เป็นธุรกิจหมื่นล้านแสนล้านก็ต้องเต็มที่อย่างบริษัทที่ฟ้องคดีก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ชัดเจน... เดินหน้าต่อสู้ในแง่ยกเลิกแล้วไม่มีอะไรใช้ทดแทน”

ในมุมตัวแทนผู้บริโภค ไม่อยากคิดที่จะยกเลิกแบนสารเคมีตัวนี้แล้วก็หาตัวใหม่ใช้ทดแทน มองและคิดกันแบบยั่งยืน เมื่อ “ประเทศไทย” มีความหวังตั้งใจกันว่าจะเดินหน้าไปในทิศทาง “เกษตรอินทรีย์” ก็มีรูปธรรมชัดเจนสะท้อนให้เห็นมากมายอยู่แล้ว ตามเส้นทางวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมั่นคงยั่งยืน

ถึงตรงนี้...ใครจะตัดสินจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิก จะแบนหรือไม่แบน ก็ต้องฉายไฟส่องไปที่ “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” กระทรวงอุตสาหกรรม นับรวมไปถึงท่าทีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ