ดันแผนแม่บทเฉพาะกิจโควิด-19 หวังใช้บริหารประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดันแผนแม่บทเฉพาะกิจโควิด-19 หวังใช้บริหารประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม

Date Time: 22 ก.ย. 2563 06:30 น.

Summary

  • นายกฯย้ำทำแผนแม่บทเฉพาะกิจจากโควิด-19 หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ 3 เป้าหมาย ทั้งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก

Latest

ธปท.จับตาเอสเอ็มอี สุดเปราะบาง  รายได้ไม่ฟื้น หนี้ท่วม จ่ายไม่ไหว  เชื่อคุมสถานการณ์ได้

นายกฯย้ำทำแผนแม่บทเฉพาะกิจจากโควิด-19 หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตอบโจทย์ 3 เป้าหมาย ทั้งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และกระตุ้นอุปสงค์ ท่องเที่ยว ย้ำ “ชีวิตวิถีใหม่หลังโควิด” ต้อง “ล้มแล้วลุกไว” ภายใต้ “พร้อมรับ-ปรับตัว-เปลี่ยนแปลง” สั่งลุยเสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก-ยกระดับขีดแข่งขัน-พัฒนาคุณภาพชีวิตและปัจจัยพื้นฐานเพื่อฟื้นฟูประเทศในอีก 2 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2563 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าด้วยการติดตามประเมินผลในช่วงครึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 1 (พ.ศ.2561-2565) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ว่า แม้โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายในอนาคต ซึ่งมีแผนฯ 12 เป็นก้าวแรกของการเดินทาง เน้นวางรากฐานที่แข็งแกร่ง กำจัดจุดอ่อนเชิงโครงสร้าง และพัฒนาจุดแข็งในช่วงชีวิตวิถีใหม่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่กู้เงินเพิ่มจากที่กู้มาแล้ว 1 ล้านล้านบาท

สำหรับการเดินหน้าบริหารงานภายใต้การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากนี้ไป ได้จัดทำแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ.2564-2565 เพื่อตอบโจทย์ 3 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1.สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก 2.กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 3.กระตุ้นอุปสงค์ และการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

ส่วนการพัฒนาประเทศและศักยภาพที่สำคัญของไทยที่สามารถ “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) นั้น อยู่ภายใต้ 3 องค์ประกอบคือ 1.พร้อมรับ 2.ปรับตัว 3.เปลี่ยนแปลง เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าหมายคือ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยมี 4 ประเด็นที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษใน 2 ปีข้างหน้า คือ 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 2.ยกระดับความสามารถของประเทศรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 3.พัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตคน 4.ปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคชีวิตวิถีใหม่ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม เพราะทุกคน คือ ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยร่วมกันในทุกระดับไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า แนวทางพัฒนาประเทศระยะต่อไปต้องปรับจุดอ่อน เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสให้รองรับชีวิตวิถีใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความยั่งยืน ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ 2.พัฒนาคุณภาพทุนมนุษย์ให้พร้อมรับวิกฤติ 3.ฟื้นฟูและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ยกระดับคุณภาพ และขยายผลการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นอกจากนี้ ต้องเสริมจุดแข็งเดิม ได้แก่ ต่อยอดภาคเกษตรและทุนวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของท้องถิ่น สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และสร้างจุดแข็งใหม่ ได้แก่ ยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพและปลอดภัย สนับสนุนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านบริการ พัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้สังคม และฟื้นฟูประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ