แม้จะยังไม่มีใครรู้ว่า “ไวรัสโควิด-19” จะระบาดรอบ 2 หรือไม่ แต่กระทรวงการคลังก็อยากทราบผลกระทบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบกว่าครึ่งปีที่ผ่านมาว่าคนไทยจนลงมากขึ้นหรือไม่
เพราะทะเบียนประวัติจากการลงทะเบียนเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ล่าสุดน่าจะเลือนรางหายไป ไม่รู้ว่าคนที่เคยรวยจะกลายเป็นคนจน ส่วนคนที่จนอยู่แล้วจะจนหนักมากขึ้นหรือไม่
ข้อมูลเดิมเมื่อปี 2559 มีประชาชนลงทะเบียนขอรับบัตรคนจนทั้งสิ้น 8 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจากรัฐบาล 3,000 บาท ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีคนละ 1,500 บาท ครั้งเดียวจบ
ส่วนการลงทะเบียนรอบที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 มีประชาชนลงทะเบียนบัตรคนจนเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน และได้รับสิทธิจากรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค 200-300 บาทเป็นประจำทุกเดือน
และยังได้รับมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ เช่น ค่าเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาท รถทัวร์ และ บขส. จำนวน 500 บาท ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท และค่าใช้จ่ายซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อเดือน
ดังนั้น แนวความคิดที่อยากจะทราบว่าคนไทยจนเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นที่มาของการเปิดลงทะเบียนบัตรคนจนรอบ 3 ของกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2564 หลังจากที่เลื่อนมาจากต้นปี 2563
ทั้งนี้ การลงทะเบียนรอบ 3 “ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ออกมาย้ำว่า จะมีการคัดกรองประชาชนที่ได้รับบัตรคนจนอย่างเข้มข้นมากกว่ารอบที่ 2 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ “รายได้ส่วนบุคคล” กับ “รายได้ครัวเรือน” รูปแบบไหนจะสะท้อนความจริงได้มากกว่ากัน
เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวครึกโครมกรณีประชาชนที่มีรายได้สูงเกินกว่า 100,000 บาท หรือเรียนจบถึงขั้นด็อกเตอร์แต่ยังไม่มีงานทำก็ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้เหมือนกัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการคัดกรองผู้ถือบัตรคนจนของกระทรวงการคลัง
โดยมองว่าการประเมิน “รายได้เป็นรายบุคคล” ไม่ได้สะท้อนถึงฐานะที่แท้จริงของผู้ถือบัตร เช่น หนึ่งครอบครัว มีพ่อ แม่ และลูก อยู่กันหลายคน พ่อมีรายได้นับแสนบาทจากการทำงานเพียงผู้เดียว ส่วนแม่และลูกไม่มีรายได้เลย จึงอาศัยช่องโหว่ดังกล่าวมาลงทะเบียนรับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น
กระทรวงการคลังจึงคิดใหม่ทำใหม่ เพิ่มเกณฑ์ประเมินใช้การพิจารณารายได้ของครัวเรือน โดยนับรายได้จากคนในครอบครัวทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาว่า “จนจริงหรือไม่”
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น แอปพลิเคชันที่ประสบความสำเร็จจากมาตรการ “ชิมช้อปใช้”, “เราไม่ทิ้งกัน” รวมถึงมาตรการล่าสุด “คนละครึ่ง” มาประยุกต์ใช้เพื่อคัดกรองผู้ถือบัตรให้ถูกฝาถูกตัว ตรงกับคนจนที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือจริงๆ
“ลวรณ” ประเมินว่าสถานการณ์ของการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบ 3 จะมีคนจนมาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 14.5 ล้านคนในรอบที่ 2 เล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ จึงทำให้มีแรงงานตกงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นับเป็นโชคดีของผู้ถือบัตรคนจน เพราะศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่า
ในเดือน ต.ค.นี้ และต่อเนื่องไปอีก 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.) จะแจกเงินให้อีก 500 บาทจำนวน 14 ล้านคน (อีก 500,000 คนเสียชีวิตไปแล้ว) รวมเป็นเงิน 21,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากสวัสดิการที่ได้รับจากบัตรคนจน
ถึงแม้เงิน 500 บาทต่อเดือน รวม 1,500 บาท จะไม่มากมายนัก แต่เงินก้อนนี้ก็มีความสำคัญกับคนจนในยามทุกข์ยากในการต่อชีวิตไปอีกวันหนึ่ง.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล