นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ตลาดสื่อสารของประเทศไทยในปี 2562 มีมูลค่า 619,143 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 เพียง 0.9% ขณะที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของตลาดสื่อสารในปี 2563 ให้ปรับตัวลดลงมีมูลค่าราว 605,108 ล้านบาท ลดลงราว 2.3% จากปี 2562
ทั้งนี้ การใช้จ่ายในตลาดอุปกรณ์สื่อสารเป็นไปด้วยความระมัดระวัง จึงคาดว่ามูลค่าของตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2563 นี้จะปรับตัวลดลง 4.8% จากปี 2562 หรือมีมูลค่า 250,021 ล้านบาท ขณะที่การสำรวจการใช้จ่ายในตลาดบริการสื่อสาร พบว่าในปี 2562 มีมูลค่า 356,438 ล้านบาท ลดลง 0.2% จากปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะบริการอินเตอร์เน็ตประจำที่และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการสื่อสารข้อมูลเติบโตในกรอบแคบๆ ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 355,087 ล้านบาท ลดลงอีก 0.4% จากปี 2562 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงการใช้ประโยชน์จากการให้บริการด้วยคลื่น 5 จี อาจล่าช้า ทำให้ตลาดหดตัวลงเล็กน้อย
ส่วนผลการสำรวจและวิเคราะห์จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต พบว่าปี 2562 จำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดอินเตอร์เน็ตประจำที่และอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่โดยในปี 2562 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 51.19 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 4.6% หรืออยู่ที่ 53.55 ล้านคนในปี 63
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการลดลง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 จะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 24 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 40% ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 35 ล้านคน ขณะที่ในปัจจุบัน หลังจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น ทำให้ผู้โดยสารเริ่มทยอยกลับมาใช้บริการมากขึ้น โดยล่าสุดมีผู้โดยสารทยอยกลับมาใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 57,000 คนต่อวัน จากปกติมีผู้โดยสารอยู่ที่ 90,000-100,000 คนต่อวัน ซึ่งจำนวนผู้โดยสารที่หายไป ส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารชาวต่างชาติ ที่ใช้บริการเชื่อมการเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ.