กลโกงเงินกู้ฟื้นฟูโควิด-19 คอร์รัปชัน? เชิงบริหาร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กลโกงเงินกู้ฟื้นฟูโควิด-19 คอร์รัปชัน? เชิงบริหาร

Date Time: 7 ก.ย. 2563 05:01 น.

Summary

  • การระบาดโควิด-19 รุนแรงอยู่ทั่วโลกกลายเป็นปัญหา “ห่วงโซ่” ลุกลามกระทบต่อระบบ “เศรษฐกิจไทย” ที่รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แม้ว่า “รัฐบาล” พยายามบริหารจัดการ “เงิน” แต่แหล่งเงินไม่เพียงพอ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

การระบาดโควิด-19 รุนแรงอยู่ทั่วโลกกลายเป็นปัญหา “ห่วงโซ่” ลุกลามกระทบต่อระบบ “เศรษฐกิจไทย” ที่รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แม้ว่า “รัฐบาล” พยายามบริหารจัดการ “เงิน” แต่แหล่งเงินไม่เพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน สุดท้าย “รัฐบาล” ออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มีอยู่ 3 ฉบับ คือ พ.ร.ก. Soft Loan ช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท พ.ร.ก. BSF ดูแลตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

และ พ.ร.ก. เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลกู้เงินได้จริงๆ คือ วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ส่วน 9 แสนล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อ “รัฐบาล” มีการ “กู้เงิน” ย่อมถือว่า “เป็นหนี้สาธารณะ” ที่คนไทยต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยการนำเงินจาก “ภาษีประชาชน” ไปใช้หนี้ก้อนนี้ตามมา...

ดังนั้น ทุกคนมีหน้าที่ต้องจับตาตรวจสอบการกู้เงินตาม พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่จะถูกนำมาใช้แก้ปัญหากู้วิกฤติโควิด-19 ในการจัดสรรงบลงทุกจังหวัดให้เท่าเทียม เยียวยาทุกกลุ่มทุกระดับ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม ที่ต้องสร้างงาน สร้างสวัสดิการ สร้างเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ตามนโยบายฟื้นฟูโควิด-19 ให้โปร่งใสเป็นธรรมได้นี้ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญโรคโควิด-19 จนเกิดปัญหา “ด้านเศรษฐกิจ” ทำให้ธุรกิจหลายแห่งต้องเจ๊งปิดกิจการ มีผลให้พนักงานตกงาน ไม่มีรายได้จุนเจือเลี้ยงปากท้อง

ดังนั้น “เงินกู้” จะถูกนำมาช่วย “เยียวยาฟื้นฟู” ถ้าปล่อยเงินนี้ “หลุดเข้ากระเป๋าคนบางคน” ก็จะเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาซ้ำเติมประชาชน และประเทศชาติ ฉะนั้นอย่าเชื่อว่า “ไม่มีใครทุจริต” แม้แต่มี “ผู้บริหารประเทศ” ออกมาพูดให้อุ่นใจที่จะดูแลไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน ก็อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด...

เพราะ “ตัวผู้บริหารประเทศ” อาจมีความโปร่งใส มีความตั้งใจแก้ปัญหาให้ประเทศจริง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ครบทุกโครงการ และนี่อาจหมายถึงช่องโหว่โอกาสให้เกิดการทุจริตขึ้นก็ได้ อีกทั้งยังมีบทเรียนทุกครั้งเมื่อมี “เงินอัดฉีด” มักมีการทุจริตเกิดขึ้นเสมอ ทั้งเป็นข่าว และไม่เป็นข่าว หรือเป็นคดี และไม่เป็นคดี

ทำให้ “เงินฟื้นฟูโควิด-19” ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ก็มีความน่ากังวลพอสมควรเช่นกัน

ดร.มานะ นิมิตรมงคล
ดร.มานะ นิมิตรมงคล

สนง.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตั้งแต่ เม.ย.-พ.ค. 2563 เก็บเรื่องร้องเรียนเบาะแส 1,300 เรื่อง มีความเป็นไปได้ในการทุจริตสูงมาก 129 เรื่อง ระดับสูง 337 เรื่อง ปานกลาง 465 เรื่อง ไม่ชัดเจน 43 เรื่อง

เบาะแสกลทุจริตถูกปักหมุดชี้เป้า มีตั้งแต่ซื้อของแพง ปลอมแปลงเอกสาร ยักยอกของหลวง หรือของบริจาคให้พวกพ้องได้มากกว่าคนอื่น เชื่อว่าถ้า “เปิดโปงกันจริงจังทั่วประเทศ” น่าจะได้เห็นการโกงมากกว่านี้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7.8 พันแห่ง รวมทั้ง กทม. และหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ

ในการใช้เงินใช้อำนาจมาตั้งแต่โรคโควิด-19 เริ่มระบาด ต้องชื่นชมการรวบรวมข้อมูล ป.ป.ช. ทำให้ประชาชนเข้าใจการใช้เทคนิคใหม่ๆ ผสานพลังชุมชนปูพรมตรวจจับการทุจริต จนมีเห็นข้อเท็จจริงมากมาย

“ข้อมูลนี้ทำให้ผู้คนรู้ทันกลโกงคนคิดจะโกงให้ทำได้ยาก และให้มีความเกรงกลัวขึ้นบ้าง ที่จะใช้เป็นฐานความรู้ในการนำไปกำหนดแนวทางปกป้องเงิน 4 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเริ่มใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี” ดร.มานะ ว่า

สำหรับ “รูปแบบการทุจริต” ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ 1.ทุจริตในขั้นตอน และหน่วยงาน” ตั้งแต่กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์กรส่วนท้องถิ่น มักถูกกล่าวอ้างถึง “นักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ” ใช้อำนาจทรัพยากรของรัฐ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกตน และเอื้อประโยชน์พวกพ้อง

ส่วนที่สอง...“ทุจริตใช้เงินงบประมาณ” ที่ยังอาจมี “การยักยอกเงิน สิ่งของที่จัดซื้อมา หรือได้รับบริจาค” เช่น เลือกแจกคนกันเอง และพื้นที่ฐานคะแนนเสียง เรียกว่า “คอร์รัปชันในการบริหารจัดการ”

ประเด็น...“เรื่องโอกาสเสี่ยงการทุจริตเงินโครงการแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม 4 แสนล้านบาท” เบื้องต้นเริ่มมีการอนุมัติโครงการต่างๆ ในการใช้งบประมาณแล้วราว 10% นับว่า...ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และยังไม่มีหน่วยงานใดได้รับเงินนี้ ทำให้สิ่งนี้ยังเป็นเพียงข้อวิตกกังวลกันอยู่เท่านั้น

เชื่อว่า...ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน “จับตาเฝ้าระวัง” อาจทำให้คนละโมบโลภมาก “ฉวยโอกาส” โดยไม่สนใจความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน ในการทุจริตโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมแน่นอน

จริงๆแล้ว...“เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน” ก็มีการติดตามการอนุมัติใช้เงินทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวน 9 แสนล้านบาท เป็นเรื่องการอนุมัติใช้งบประมาณของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีกระบวนการดำเนินการขั้นตอนเข้มงวดรัดกุมอย่างมาก ทำให้มีช่องว่างในการก่อการทุจริตค่อนข้างได้ยาก

ในส่วนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งใช้งบ 3 ส่วน คือ ส่วนด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท ที่มีอนุมัติใช้เงิน และมีผู้รับเงินชัดเจน ทำให้ไม่กังวลเรื่องการทุจริตมากนัก ในช่วงแรกๆอาจมีข้อมูลสับสน ทั้งการจ่ายเงินเยียวยา หรือจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันของแพทย์ ที่ไม่ได้รับกันทั่วถึงทุกพื้นที่

แต่ก็เป็นเรื่อง “ความบกพร่อง” ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ผู้ขอเงินเยียวยาขอซับซ้อน ที่เกิดจากการทุจริตของ “ตัวผู้รับเงิน” จนทำให้ “เกิดตกหล่น” ที่ไม่ใช่เกิดจากผลเกี่ยวข้องกับ “การทุจริตคอร์รัปชัน” จากนั้น “รัฐบาล” ก็แก้ไขข้อมูลอนุมัติเยียวยาย้อนหลังกันไปแล้ว

ทว่า...“การใช้เงิน 4 แสนล้านบาท” เป็นส่วนน่ากังวลที่สุด เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมนี้ มีเม็ดเงินถูกจัดสรรกระจัดกระจายกับผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ และภาคประชาชน อาจนำไปใช้ทำโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า หรือเกิดการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างได้

อดีตมักพบว่า “การทุจริต” โครงการเงินอัดฉีดของรัฐบาล เช่น ทำให้คนไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือให้ได้สิทธิ์ หรือมีสิทธิ์น้อยก็ทำให้มีสิทธิ์มากขึ้น อีกประเภท คือ เขียนโครงการพิเศษ นำเบิกงบประจำซ้ำซ้อน เป็นต้น

และเกรงว่า “จะเกิดการทุจริตเช่นอดีต” จึงต้องมีกลไก “เฝ้าระวังการทุจริต” สร้างกลไกตรวจสอบ “เชิงรุก” ด้วยหน่วยงานทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุไม่ให้ทุจริตขึ้นได้ ถ้าปล่อยให้ “ทุจริต” และไล่จับผู้กระทำความผิด เรื่องนี้จะเป็นปลายเหตุไม่ได้เกิดประโยชน์ เพราะมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว

ประการต่อมา...“รัฐบาล” ต้องสร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าตรวจสอบได้ง่ายทางอินเตอร์เน็ต เช่น หน่วยงานใด ได้รับงบสนับสนุนในโครงการอะไร ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือมีรายจ่ายอะไรบ้าง กรณีแจกจ่ายเงินแก่ประชาชนได้แจกให้ใครบ้าง มีระบบการยืนยันรับเงินโยงกับทะเบียนราษฎร เป็นต้น

ในส่วน “ภาคประชาชน” ก็ตอบสนองโดยทำเว็บไซต์ เรียกว่า “โควิดเอไอ” ที่จะดึงข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เว็บ Thai Me ให้เห็นตรวจสอบโครงการ และงบประมาณได้ง่าย ที่เรียกว่า “นักสืบไซเบอร์” เช่น ตำบลนี้ได้เงินเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเท่าไหร่ มีกี่โครงการ พัฒนาแหล่งน้ำเท่าไหร่ สามารถเทียบกับจังหวัดอื่น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาช่วยคัดกรองโครงการที่ ครม.อนุมัติ ว่าโครงการนี้มีความเสี่ยงในการทุจริตระดับใด ด้วยอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมกว่า 100 คน เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใส ในการแยกประเภทความเสี่ยงโครงการต่างๆ นำมาเปรียบเทียบโครงการที่เคยทุจริตในอดีต ส่งให้อาสาสมัครในพื้นที่ตรวจสอบซ้ำ

ย้ำว่า...“คนทุจริต” มักก่อเหตุทำลายทุกอย่างเมื่อมีโอกาส แม้เป็นเรื่องทุกข์ร้อนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของประชาชนเพียงใดก็ตาม จึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องต่อสู้ปกป้องผลประโยชน์ของเรากันเอง

เพื่อไม่ให้ “การคอร์รัปชัน” เป็นเรื่องแอบซ่อนลักกินขโมยกินอยู่ในสังคมไทยอีกต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ