สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA นำเสนอวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนประเทศของภาคธุรกิจศูนย์การค้า ในโอกาสเข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยคณะทำงานจากภาครัฐ เพื่อแสดงพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันเดินหน้าประเทศไทย เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานให้กลับมามีรายได้ ภายหลังสถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภาคธุรกิจศูนย์การค้าโดยสมาคมศูนย์การค้าไทย รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบพระคุณ ฯพณฯ และภาครัฐเป็นอย่างยิ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจนี้ และได้ให้โอกาสในการนำเสนอวิสัยทัศน์สู่การเป็นหนึ่งในแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย ‘ศูนย์การค้า’ นับเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นสถานที่ที่รวมผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 120,000 ราย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.4 ล้านคน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 750,000 ล้านบาทต่อปี ศูนย์การค้าจึงเปรียบเสมือน ‘บ้านหลังใหญ่’ ของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ และนับเป็น ‘ต้นน้ำ’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นและรวมการค้าขายเอาไว้ จึงมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศในทุกระดับ”
“ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์โควิดจนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจศูนย์การค้าได้มีความพยายามช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 6 เดือน รวมรายได้ที่สูญเสียและเม็ดเงินช่วยเหลือเกือบ 2 แสนล้านบาท อาทิ การลดค่าเช่า 30-100% เพื่อให้ร้านค้ายังคงมีกระแสเงินสดหมุนเวียนและประคองธุรกิจต่อไปได้ ส่งเสริมการขายจัดแคมเปญลดราคา 50-90% รวมไปถึงเปิดพื้นที่การขายฟรีให้ เอสเอ็มอีและผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีประคองธุรกิจในระยะสั้น แต่ไม่เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างต่อเนื่อง” นายนพพรกล่าว
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หลังจากที่เราได้ร่วมมือกันแสดงพลังของคนไทยในทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล บุคคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชน ไปจนถึงภาคประชาชน จนฝ่าวิกฤติครั้งใหญ่มาร่วมกันได้ ขณะนี้เพื่อร่วมกันเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทางสมาคมศูนย์การค้า จึงขอนำเสนอแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อภาครัฐพิจารณารวมเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาประเทศ โดยขอสรุปวิสัยทัศน์ของภาคธุรกิจศูนย์การค้าเป็น 3 ส่วน ได้แก่ แผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. แผนระยะสั้น: ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถกลับมาค้าขายได้ คงการจ้างงาน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ด้วยมาตรการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ส่งเสริมโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ โดยอนุมัติมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” แจก 3,000 บาทต่อคน พร้อมขยายมายังผู้ค้ารายย่อยในศูนย์อาหาร (Food Center) ให้สามารถเข้าร่วมได้, พิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยาค่าใช้จ่ายผ่านศูนย์การค้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป ตามข้อเสนอมาตรการเยียวยาโควิดทั้งด้านภาษีและค่าใช้จ่ายๆ ตามจดหมายที่สมาคมฯ เคยนำเสนอเมื่อวันที่ 15 เม.ย. และ 29 มิ.ย. 2563 พร้อมขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุน และต่ออายุการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ออกไปถึงปี 2566
2. แผนระยะกลาง: ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับธุรกิจศูนย์การค้าให้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาประเทศ อนุญาตให้ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษของประเทศ, ส่งเสริม Seamless Connectivity เชื่อมต่ออาคาร, ระบบคมนาคม, สะพานลอย, รถไฟฟ้า, ถนนหลวง ฯลฯ, พิจารณาปรับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ และส่งเสริมมาตรการด้านภาษีเพื่อการลงทุน
3. แผนระยะยาว: ผลักดันให้ศูนย์การค้าไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในระดับโลก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับคุณภาพและดีไซน์สินค้าของไทยให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการทยอยปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศ เพื่อนบ้านในอาเซียนได้ รวมถึงจัดแคมเปญระดับประเทศเพื่อโปรโมต Attraction & Unique Product ภายในศูนย์การค้า และการจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมระดับประเทศ (Cultural Event) โดยภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันส่งเสริม Art / Music / Food ของไทยในศูนย์การค้า เช่น งาน Bangkok Art Biennale เพื่อทำให้ศูนย์การค้าไทยเป็นสวรรค์แห่งการช็อปปิ้งของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายหลักที่ทางสมาคมฯ ผลักดันให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อช่วยประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ คงการจ้างงาน ลดอัตราการว่างงาน และกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบ รวมถึงการแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจรอดไปด้วยกันทั้งหมด นอกจากนี้ สำหรับแผนระยะกลาง เราหวังให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยเราเล็งเห็นบทบาทของศูนย์การค้าที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมาก รวมถึงในระยะยาวเราต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแม่เหล็กหลักที่จะช่วยดึงดูดรายได้ให้กับประเทศ”
ทางสมาคมศูนย์การค้าไทยยังเสนอเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐผลักดันและดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่นำเสนอดังกล่าวข้างต้น จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าดำเนินตามแผนการลงทุนตามที่ได้วางไว้ที่กว่า 171,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ (ประมาณ 57,000 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐให้โอกาสในการนำเสนอ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเยียวยาทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์โควิดในครั้งนี้ให้เดินหน้าต่อไปได้อีกครั้ง
ปัจจุบัน สมาคมศูนย์การค้าไทยประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าทั้งหมด 13 ราย ได้แก่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน), บริษัท รังสิตพลาซ่า จำกัด, บริษัท แอล เอช มอลล์ โฮเทล จำกัด, บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท เค.อี.แลนด์ จำกัด, บริษัท เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด, บริษัท แปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา จำกัด และบริษัท บุญถาวรเซรามิค จำกัด