วางแผนจัดการหนี้ (2)

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

วางแผนจัดการหนี้ (2)

Date Time: 28 ส.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ครั้งที่แล้วได้เขียนถึงหลักการแยก “หนี้ดี” กับ “หนี้ไม่ดี” โดย “หนี้ดี” คือหนี้ที่ทำให้เรามีความมั่งคั่งขึ้น มีรายได้หรือมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

ครั้งที่แล้วได้เขียนถึงหลักการแยก “หนี้ดี” กับ “หนี้ไม่ดี” โดย “หนี้ดี” คือหนี้ที่ทำให้เรามีความมั่งคั่งขึ้น มีรายได้หรือมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และเป็นหนี้ที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน!!

ส่วนหนี้ที่สร้างปัญหา คือหนี้ที่ไม่ได้สร้างความมั่งคั่ง แถมสร้างภาระให้ชีวิตประจำวันถึงขั้นต้องอดมื้อกินมื้อ อันนี้ถือเป็น “หนี้ไม่ดี”

หากวันนี้สำรวจตัวเองแล้วพบว่า อยู่ในภาวะหนี้สินรุมเร้า มีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ไม่ดี” ผสมปนเปสุขภาพการเงินย่ำแย่จนส่งผลต่อสุขภาพจิต

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 15,000 บาท พอเงินออกต้องจ่ายสารพัดหนี้รวมซะ 10,000-12,000 บาท ขนาดจ่ายหนี้บัตรเครดิตแค่ขั้นต่ำยังเหลือใช้แค่ 3,000 บาท เมื่อไม่พอต้องหยิบยืมหรือรูดบัตรเงินสดหรือกู้หนี้นอกระบบมากินอยู่ละก็...

มาเริ่มต้นตั้งใจตั้งสติ “ปลดล็อก” ชีวิตหนี้ ตั้งแต่วันนี้เลยดีกว่า ปฐมบทแรก ที่กูรูนักวางแผนการเงินแนะนำคือ 1.ต้อง “หยุดสร้างหนี้เพิ่ม” ซึ่ง“ข้อห้าม” เด็ดขาดเลย คือ ห้ามกู้หนี้นอกระบบหรือหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า เพื่อไปจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า ปฏิบัติการต่อมา 2.ท่องให้ขึ้นใจ ประหยัด-ประหยัด-ประหยัด รัดเข็มขัดให้แน่น ใช้จ่ายแต่สิ่งจำเป็นเท่านั้น

หากประหยัดแล้วยังไม่พอ นี่เลย 3.ต้องหารายได้เพิ่ม รับจ็อบ-ทำโอที ขายของ ถ้าไม่รู้จะขายอะไรก็มองหาข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน อะไรที่ซื้อไว้แล้วไม่ได้ใช้ หรือใช้แล้วไม่คุ้ม ไม่มีความจำเป็นเอาออกมาขาย เริ่มขายกับเพื่อนฝูง คนใกล้ตัว เพื่อนร่วมงาน หรือขนไปวางขายตามตลาดนัดแถวบ้าน หรือโพสต์ออนไลน์ขายในไอจี-เฟซบุ๊ก

แค่นี้ก็มีเงินเพิ่มขึ้นจาก 2 ทางคือ เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายประหยัดขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากรายได้พิเศษ ทำให้มีเงินมาจ่ายคืนหนี้มากขึ้น

ทีนี้เข้าสู่กระบวนการ “ปลดหนี้” ของจริงแล้ว เริ่มจากต้องวางแผน จัดลำดับเริ่มจากเจ้าหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงสุดก่อน ให้เข้าไปเจรจาทั้งเจ้าหนี้นอกระบบ (หากเจรจาได้) และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และนอน-แบงก์ หนี้บัตรเครดิต บัตรเงินสดทั้งหลาย เพื่อขอผ่อนผันลดดอกเบี้ยหรือขยายเวลาชำระหนี้

และให้เริ่มวางแผนผ่อนจ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงให้หมดก่อนโดยเร็วที่สุด หากมีสินทรัพย์อื่น เช่น มีบ้านหรือมีรถ นำไปจำนองหรือขอสินเชื่อเพิ่ม เพื่อนำเงินกู้ไป “ปลดล็อก” จ่ายคืนหนี้นอกระบบหรือหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าให้หมดในก้อนเดียว เพื่อให้เหลือหนี้ทางเดียวที่ดอกเบี้ยต่ำกว่า ภาระผ่อนหนี้ก็จะลดลง ทำให้ “หลุดพ้น” จาก “ชีวิตหนี้” ได้เร็วขึ้น และมีโอกาสมาเริ่มต้น “ออม” เพื่อสู่อิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น

ปิดท้ายขอแนะนำให้ใช้ “สำรับการเงินสามัญประจำบ้าน” รู้วิธีบริหารหนี้ มีเงินออม ช่วยแก้ปัญหาการเงินได้ถูกจุด ที่ www.set.or.th/happymoney

คุณนายพารวย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ