แก้หวยแพง (อีกครั้ง)

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แก้หวยแพง (อีกครั้ง)

Date Time: 25 ส.ค. 2563 05:02 น.

Summary

  • กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ที่ขณะนี้ราคาแพงหูฉี่สวนทางเศรษฐกิจไทย หลังจากนักเสี่ยงโชคหันมาซื้อสลากกันแต่ละงวดกันคับคั่ง

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้


กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งสำหรับ “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ที่ขณะนี้ราคาแพงหูฉี่สวนทางเศรษฐกิจไทย หลังจากนักเสี่ยงโชคหันมาซื้อสลากกันแต่ละงวดกันคับคั่งจนเกือบเกลี้ยงแผงทุกงวด โดยหวังจะ “ดวงดี” ถูกรางวัลที่ 1 หรือแค่รางวัลเลขท้าย 2 ตัว เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จ่ายค่ารถ หรือค่าบ้าน

สำหรับราคาสลากนั้น ต้องยอมรับว่าแพงขึ้นเกือบเท่าตัวจากราคาหน้าสลาก ที่สำนักงานสลากฯ กำหนดไว้ที่ 80 บาท เพราะแค่สลาก 1 ใบ เริ่มต้นก็ขายราคาที่ 100 บาทแล้ว โดยเฉพาะเลขดังราคาพุ่งไปถึงใบละ 200-300 บาท ส่วนสลากชุด 2 ใบ ที่กำหนดราคาไว้ 160 บาทนั้น ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 200-220 บาทต่อชุดและสลากรวมชุด 10-20 ใบ ราคาอยู่ประมาณ 1,000 บาทขึ้นไป

ในขณะที่ต้นทุนที่แท้จริง ผู้ค้าสลากระบบโควตาและระบบจองซื้อ รับซื้อสลากจากสำนักงานสลากเพียงใบละ 70.40 บาทเท่านั้น

สำหรับสาเหตุหลัก ที่ทำให้สลากราคาพุ่งอย่างต่อเนื่องมาหลายงวด เป็นเพราะในตลาดซื้อขายสลากมี “ผู้ค้าสลากหน้าใหม่” เข้ามารับซื้อสลากต่อระบบจองซื้อสลากไปขายต่ออีกที ซึ่งส่วนมากผู้ค้ารายใหม่นั้นเป็นคนที่ตกงานจากพิษโควิด-19 แพร่ระบาด

รวมถึงบางรายยังทำอาชีพขายสลากเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตนเองในช่วงที่เศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ ไม่รู้จะดีขึ้นเมื่อไหร่ หรืออาจถูกลดเงินเดือนจากบริษัท ส่งผลให้นักเสี่ยงโชคทั้งหลายต้องรับภาระซื้อสลากราคาแพงไปตามๆกันโดยไม่สามารถ ปฏิเสธได้

นอกจากนี้ ผู้ค้าสลากรายย่อยบางราย ยังอ้างว่ารับสลากมาขายในราคาสูง ถึงราคา 70-80 บาทต่อใบตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้ จึงเป็นเหตุผลทำให้ต้องขายสลากแพงขึ้น ซึ่งส่วนมากผู้ค้าสลากเหล่านี้มักจะรับสลากมาจากพ่อค้าคนกลาง หรือยี่ปั๊ว อีกทอดหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสลากราคาแพง เป็นปัญหาที่มีมาเนิ่นนาน และสำนักงานสลากฯ ไม่เคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้จะพยายามออกแนวทางแก้ปัญหามาหลายครั้ง

อาทิ การพิมพ์สลากเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการประชาชน โดยปี 2557 มีการพิมพ์สลากเพียง 37 ล้านใบเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพดานการพิมพ์อยู่ที่ 100 ล้านใบ ซึ่งภายในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา แม้จะพิมพ์สลากเพิ่มขึ้นถึง 63 ล้านใบ แต่ราคาสลากก็ไม่ได้ลดลงตามที่สำนักงานสลากฯคิดไว้

ขณะที่การทำสลากชุด 2 ใบ ออกมาขายในราคา 160 บาท เพื่อตัดตอนผู้ค้าสลากหัวใสนำสลากไปรวมชุด ก็ไม่สามารถ
แก้ปัญหาเรื่องการรวมชุดเบ็ดเสร็จ และปัจจุบันยังมีข่าวคนถูกรางวัลสลากจำนวนหลายสิบล้านบาท เพราะถูกรางวัลหวยชุดอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ หลายคนมองว่าสำนักงานสลากฯออกมาช่วยประชาชนในเรื่องสลากราคาแพงครั้งนี้ ช้ากว่าตอนช่วงที่ผู้ค้าสลากรายย่อยเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นสลากอยู่ในช่วงราคาถูก โดยสำนักงานสลากฯเลื่อนออกรางวัลไปให้ 1 เดือน และงดขายสลากถึง 3 งวด

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสลากฯจึงจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสลากราคาแพงโดยเฉพาะ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหา คือ การจัดระบบโควตาและระบบจองซื้อใหม่ โดยการปรับโครงสร้าง หรือกฎระเบียบใหม่ เพื่อดึงผู้ค้าสลากที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบให้ถูกต้อง และทำให้ผู้ค้าสลาก เมื่อรับสลากจากสำนักงานสลากฯไปแล้วไม่นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ราคาสลากมีราคาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนการแก้ไขปัญหาสลากระยะยาวนั้น สำนักงานสลากฯ มองว่าต้องมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเกมใหม่ ในรูปแบบออนไลน์ ควบคู่ไปกับการออกสลากใบ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เพื่อทำให้ราคาสลากใบลดลงเหลือ 80 บาท ตามที่สำนักงานสลากฯกำหนดไว้

แต่เรื่องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น จะต้องศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ผู้ค้าสลากเดิมจะต้องไม่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มเกมใหม่ รวมถึงประชาชนด้วย ไม่เช่นนั้นนอกจากจะแก้ปัญหาสลากราคาแพงไม่ได้แล้ว อาจจะถูกโจมตีว่าเป็นการมอมเมาประชาชนให้ติดการพนันมากขึ้น

ก็ได้แต่หวังว่า การแก้ปัญหาของสำนักงานสลากฯครั้งนี้ จะไม่ล้มเหลวอย่างที่ผ่านมา และทำให้ราคาสลากกลับมา
อยู่ที่ 80 บาท เพราะผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการที่สลากราคา แพงขึ้น คือ ประชาชนที่ซื้อสลากทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ตกอยู่ที่ยี่ปั๊วรายใหญ่ ที่ฟันกำไรจากส่วนต่างเมื่อสลากราคาแพงขึ้นอย่างอิ่มหนำสำราญ.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ