รัฐบาลต้องรีบออกมาปฏิเสธในทันทีว่าไม่ได้ “ถังแตก” ภายหลังกระทรวงการคลัง ขอความเห็นชอบ ครม.กู้เงินเพิ่มอีก 2.14 แสนล้านบาท มาโปะเพิ่มชดเชยขาดดุลงบประมาณ 2563 เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จากปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด ทำให้การเก็บรายได้ของรัฐบาลพลาดเป้าไปกว่า 4 แสนล้านบาท เข้าขั้นวิกฤติจริงๆ จนน่าเป็นห่วงฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ยืนยันฐานะทางการคลังรัฐบาลยังพอไปได้ แม้มีความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลังเพิ่มขึ้น ต้องกู้เงินเพิ่มอีก 2.14 แสนล้าน เพื่อเสริมสภาพคล่อง ต้องถือว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะถังแตก แต่ขาดสภาพคล่อง เป็นผลจากการประมาณสถานการณ์เศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เก็บภาษีพลาดเป้าค่อนข้างมาก และค่าใชจ่ายภาครัฐในการบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนของประชาชนมากเกินคาด ความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสอง ซึ่งมีมาตรการปิดเมืองและการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท การกู้เงินเพิ่มเพียง 2.14 แสนล้านนั้น จะไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศและการบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
สำหรับการแก้ไขวิกฤตการณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน ควรกู้เงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 3-5 แสนล้านบาทในช่วงปลายปี รัฐบาลสามารถกู้เงินในประเทศเพิ่มเติมได้ การก่อหนี้สาธารณะเพื่อดูแลเศรษฐกิจและการจ้างงานมีความจำเป็น แต่ต้องชะลอการจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศทั้งหมด 100% นำงบมาพัฒนากำลังพลและจัดสรรงบให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศแทน เพื่อทดแทนการนำเข้าและมุ่งให้เกิดการจ้างงานในประเทศ การก่อหนี้เพิ่มต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า รัฐบาลต้องยกเลิก หรือชะลอหรือปรับลด โครงการ และการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนทั้งหมดก่อน
นอกจากนี้ไม่ควรเลื่อนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีกแล้ว เนื่องจากไทยมีรายได้จากฐานภาษีทรัพย์สินต่ำมากๆ และควรพิจารณาจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน เช่น การจัดเก็บภาษีเพิ่มค่าของทรัพย์สินอันเป็นผลจากการลงทุนของรัฐ การจัดเก็บภาษีการเพิ่มค่า จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ ต้องเก็บภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินภาษีมาใช้พัฒนาประเทศ และรัฐบาลควรต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชน หรือธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน
“การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในลักษณะเป็นแบบภาษีลาภลอย ตามที่กระทรวงการคลังศึกษาอยู่นั้นจะซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเป็นการเก็บภาษีแบบหยุมหยิม รวมทั้งรัฐบาลจะเก็บภาษีไม่ค่อยได้ มีต้นทุนและยุ่งยากในการดำเนินการ หากรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีลาภลอย จะมีสภาพเดียวกับการจัดเก็บภาษีมรดก คือ จัดเก็บแทบจะไม่ได้เลย เป็นเพียงการแสดงว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้วนะ แต่ไม่มีประสิทธิผล"
ในส่วนการลดการรั่วไหลและลดการใช้จ่าย ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ควรเน้นการกระจายอำนาจทางการคลัง เพื่อแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ดีขึ้น ประสบการณ์ของประเทศจีนยืนยันชัดเจนว่า การกระจายอำนาจทางการคลัง ทำให้การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพื้นที่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
"ตรงกันข้ามกับไทยโดยเฉพาะในสมัย คสช. รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและล่วงเลยมา 5-6 ปี ก็ยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแต่อย่างใด การเป็นรัฐรวมศูนย์ ทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมีความล่าช้า ทางการต้องปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า เพื่อกระตุ้นภาคส่งออกและสินค้าเกษตร สิ่งนี้มีความสำคัญอย่างมากในขณะนี้ในการช่วยพลิกฟื้นและก่อให้เกิดการขยายตัวของตลาดแรงงาน กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น"
พร้อมยืนยันระบบธนาคารไทยยังแข็งแกร่งด้วยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 19.2% โดยปัญหาหนี้เสียที่พุ่งขึ้นเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดการลุกลามสู่ภาคการเงิน ขณะที่ความกังวลที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจแตะระดับ 60% ในปีหน้า ยังไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวล แต่เวลานี้ต้องระมัดระวังไม่ประมาท เรื่องความเสี่ยงของวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต โดยการลงทุนภาครัฐต้องนำมาสู่การขยายตัวของการจ้างงานในตลาดแรงงาน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยเงินกู้มากกว่าที่รัฐบาลกู้อยู่เวลานี้
“ตอนนี้ต้องทบทวนแนวคิดบริหารเศรษฐกิจแบบ Supply-side Economics ไปก่อน เพราะในระยะสั้น เรากำลังเผชิญสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเดินโซซัดโซเซ จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ สู่วิกฤตการณ์ภาคการเงิน วิกฤตการณ์การคลัง และวิกฤติทางสังคมและการเมืองได้ ความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างอุปสงค์ให้เพียงพอเพื่อจะใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่เกินจำนวนมาก กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้"
อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้สารพัดมาตรการแล้ว SME และภาคธุรกิจเอกชน ยังไม่ฟื้นและยังคงล้มละลายต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมภายใต้การสนับสนุนของรัฐ และการจัดตั้งบรรษัททำหน้าที่ในการเพิ่มทุนกับภาคธนาคารและภาคธุรกิจการผลิต อาจมีความจำเป็นใช้เงินทุนที่นำมาจัดตั้งบรรษัท เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจนี้ อาจต้องออกพันธบัตรรัฐบาล 20-50 ปีมาใช้จ่าย.