ครม.ไฟเขียวปิดรูโหว่รายจ่าย อนุมัติคลังกู้เงินเต็มเพดาน 2.14 แสนล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.ไฟเขียวปิดรูโหว่รายจ่าย อนุมัติคลังกู้เงินเต็มเพดาน 2.14 แสนล้านบาท

Date Time: 19 ส.ค. 2563 08:11 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียว กระทรวงการคลังกู้เงินปิดผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับงบประมาณขาด

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.ไฟเขียว กระทรวงการคลังกู้เงินปิดผลการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่ม 2.14 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับงบประมาณขาด ทำให้ปีงบประมาณ 63 กู้เงินเต็มเพดาน 6.83 แสนล้านบาท พร้อมยกหนี้การบินไทยออกจากหนี้สาธารณะหลังพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ ยันหนี้สาธารณะปรับขึ้น 57% ต่อจีดีพี ปี 64 แต่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่กระทรวงเสนอให้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 63 ครั้งที่ 2 โดยมีการปรับแผนที่สำคัญในรายการต่างๆ ได้แก่ การปรับเพิ่มวงเงินกู้ของรัฐบาลในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 63 วงเงิน 214,093.92 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบตามความเห็นของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการนําหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกจากแผนการบริหารหนี้ฯ เนื่องจากบริษัท การบินไทยพ้นสถานภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้หนี้ก็ของบริษัท การบินไทยไม่นับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมายอีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปรับกรอบ และวง เงินของการบริหารหนี้สาธารณะให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) โดยการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าวส่งผลให้ต้องปรับแผนเดิมดังนี้

1.การก่อแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 158,521.85 ล้านบาท จากเดิม 1,497,498.55 ล้านบาท เป็น 1,656,020.40 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม ปรับลด 67,267.64 ล้านบาท จากเดิม 1,035,777.74 ล้านบาท เป็น 968,510.10 ล้านบาท และ 3.แผนการชําระหนี้ ปรับลด 22,329.31 ล้านบาท จากเดิม 389,373.21 ล้านบาท เป็น 367,043.90 ล้านบาท

การอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (Revenue Shortfall) ในปีงบประมาณ 63 จำนวน 214,093.92 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ส่งผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าประมาณการในปีงบประมาณ 2563 จึงมีการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่จำเป็นเพื่อให้มีสภาพคล่องเพียงพอสําหรับการเบิกจ่ายเพื่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งการกู้เงินเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลให้รัฐบาลมีระดับเงินคงคลังเพียงพอรองรับการเบิกจ่ายของหน่วยงาน

นางสาวรัชดากล่าวว่า การปรับปรุงแผนข้างต้นส่งผลให้ประมาณการยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 63 มีจำนวน 8.21 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ระดับ 51.64% ส่วนในปี 64 หนี้สาธารณะจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 57% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

ขณะที่สัดส่วนทางการเงินที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศหลังจากมีการปรับปรุงแผนบริหารหนี้สาธารณะในครั้งนี้ ได้แก่ สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้อยู่ที่ 23.02% จากกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 35% สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 4.25% จากเพดานที่กำหนดไว้ 10% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศจะอยู่ที่ 0.16% จากเพดานที่กำหนดไว้ 5%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับปรุงหนี้สาธารณะครั้งล่าสุดซึ่งมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ 214,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินในการกู้ชดเชยการกู้ปรับโครงสร้างหนี้และที่กระทรวงการคลังค้ำประ กันอยู่ที่ 683,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งเต็มเพดานการกู้ในปีงบประมาณนี้แล้ว และไม่มีช่องว่างในการก่อหนี้ในส่วนนี้เพิ่มเติม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ