จีดีพีติดลบ 12.2%  ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

จีดีพีติดลบ 12.2% ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ

Date Time: 19 ส.ค. 2563 05:03 น.

Summary

  • ดีพีไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) หดตัวถึง–12.2% แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะติดลบหนัก –13% ถึง –17% และคาดว่าจีดีพี ไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ก็เป็นไปตามคาด คุณทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนฯ แถลงตัวเลข จีดีพีไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) หดตัวถึง–12.2% แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะติดลบหนัก –13% ถึง –17% และคาดว่าจีดีพี ไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สภาพัฒนฯจึงประเมินจีดีพีปี 63 จะติดลบที่ –7.5% โดยมีกรอบ ระหว่าง –7.8% ถึง –7.3% ลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่คาดว่าจะหดตัว -6% ถึง -5% ตัวเลขจีดีพี -7.5% นี้ ประเมินบนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจ โลกปี 63 มีการหดตัว –4.5% ถ้าเศรษฐกิจโลกหดตัวลงมากกว่านี้จีดีพีไทยก็อาจลดลงมากกว่านี้

จีดีพีที่ติดลบ ส่วนหนึ่งมาจาก การส่งออกปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว -10% และ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดเหลือ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 3.1 แสนล้านบาท

ส่วน ปัจจัยเสี่ยงอื่นมีมากมาย เท่าที่ คุณทศพร เลขาธิการสภาพัฒนฯ ระบุ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ทิศทางนโยบายการเงินการคลัง การชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่จุดติดอีกครั้ง เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะฟื้นเร็วหรือช้า ยังต้องขึ้นกับเงื่อนไขว่า จะมีการผลิตวัคซีนออกมาได้ เร็วหรือไม่ ถ้าผลิตได้เร็ว ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2564 แปลความก็คือ เศรษฐกิจไทยจะยํ่าแย่ไปอีกอย่างน้อย 1 ปีจนถึงปลายปี 2564 เมื่อมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาแล้ว

มองโลกในแง่ดี จีดีพีไทยติดลบ 12.2% ในไตรมาส 2 ผมถือว่าไม่ขี้เหร่เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ จีดีพีไตรมาส 2 ของ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ (ยกเว้นจีนที่ขยายตัว 3.2%) จีดีพีไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ –13.2% หนักกว่า ไทย ติดลบมากที่สุดในรอบ 55 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

ญี่ปุ่น ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก ก็เพิ่งประกาศตัวเลข จีดีพีไตรมาส 2 ออกมาก่อนไทย ติดลบหนักมาก -27.8% หดตัวมากที่สุดในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ญี่ปุ่นมีการบันทึกตัวเลขจีดีพีตั้งแต่ปี 1980 เป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน การบริโภคในประเทศ -8.2% การลงทุนของภาคธุรกิจ -5.8% การส่งออก -3% ตอนนี้ไวรัสโควิด–19 กลับมา ระบาดใหม่อีกรอบ ไม่รู้จีดีพีครึ่งปีหลังญี่ปุ่นจะพังไปอีกเท่าไหร่ ขณะที่ไทยเริ่มฟื้นเพราะคุมการระบาดได้

สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก จีดีพีไตรมาส 2 หดตัวมากถึง -32.9% หรือลดลง 1 ใน 3 ของจีดีพีปีก่อน เป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว การบริโภคของชาวอเมริกันในประเทศหดตัว -34.6% การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ -38.7% ตํ่าที่สุดในรอบ 40 ปี การลงทุนของภาคธุรกิจ -27% เป็นผลงาน ห่วยแตกของ ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 วันนี้ชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนจากประชากร 330 ล้านคนกำลังนํ้าตาเช็ดหัวเข่า คนว่างงานและตกงานหลายสิบล้านคน ถ้ายังเลือก ทรัมป์ กลับมาเป็นผู้นำอีก เศรษฐกิจสหรัฐฯคงจะทรุดหนักกว่านี้อีก ไอเอ็มเอฟ คาดว่า หนี้สินรัฐบาลสหรัฐฯในปี 2030 จะพุ่งขึ้นไปสูงถึง 160% ของจีดีพี เหมือนกับ “ประเทศที่ป่วยหนัก” ในยุโรปทั้งหลาย

หันมาดู ฐานะการเงินการคลังของไทยวันนี้ยังแข็งแกร่งมาก เรายังมี เงินคงคลัง 2.65 แสนล้านบาท เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 251,600 ล้านดอลลาร์ วันนี้กว่าร้อยประเทศรุมขอเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ แต่ไทยกลับมีเครดิตไลน์ที่จะให้ไอเอ็มเอฟกู้ เก๋ไหมล่ะ

ปัญหาของไทยมีอยู่เรื่องเดียว นายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศ และ ทีม ครม.เศรษฐกิจ ต้อง เข้าใจและเข้าถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และ แก้ไขให้ถูกจุด สร้างความเข้มแข็งในประเทศ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตจากในประเทศ แทนการพึ่งการส่งออกถึง 70% เลิกอุ้มนักลงทุนยักษ์ใหญ่ต่างชาติด้วยภาษีเข้ามาถล่มธุรกิจคนไทย แล้วอุ้มชูพัฒนาธุรกิจคนไทยให้เติบโตไปสู้กับต่างชาติให้ได้ เปลี่ยนความคิดอันล้าหลังนี้ของรัฐบาลได้เมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วและยั่งยืนแน่นอน ฟื้นจากการเติบโตในประเทศ ฟื้นจากฝีมือคนไทย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ