ทีวีดิจิตอลย้ำขอให้เรียงเลขช่องตามเดิม จี้ กสทช.เร่งออกประกาศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทีวีดิจิตอลย้ำขอให้เรียงเลขช่องตามเดิม จี้ กสทช.เร่งออกประกาศ

Date Time: 14 ส.ค. 2563 15:18 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • สมาคมทีวีดิจิตอลย้ำขอให้เรียงเลขช่องตามเดิม จี้ กสทช.เร่งออกประกาศเรียงช่อง ชี้หากศาลปกครองสูงสุดเห็นตามศาลปกครองกลางอุตสาหกรรมทีวีจะเสียหายหนัก

Latest


สมาคมทีวีดิจิตอลย้ำขอให้เรียงเลขช่องตามเดิม จี้ กสทช.เร่งออกประกาศเรียงช่อง ชี้หากศาลปกครองสูงสุดเห็นตามศาลปกครองกลางอุตสาหกรรมทีวีจะเสียหายหนัก

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) แถลงจุดยืนของอุตสาหกรรมหลังจากประเมินผลการประชุมย่อย ร่วมกับโครงข่ายทีวีดาวเทียมเคเบิลทีวี ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กสทช. เสนอยกช่อง 1-10 ให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจัดเรียงช่องเองอิสระ ทีวีดิจิตอลอยู่หมายเลข 11-36 ตามเดิม แต่ยังไม่มีข้อยุติเนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างความเสียหายของตนบวกกับท่าทีของ กสทช. ที่ยังไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลาที่รับปากไว้จึงต้องประกาศจุดยืนและแนวทางการต่อสู้ในฐานะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

จุดยืนสำคัญข้อแรกในการต่อสู้ของทีวีดิจิตอลคือ การเป็นสื่อหลัก เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหัวใจสำคัญในการสะท้อนบริบทของสังคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อตามนโยบายของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เมื่อการเปลี่ยนผ่านของทีวีภาคพื้นดินไม่เป็นไปตามแผนงานการคงไว้ ซึ่งประกาศ "must carry" ปี 2555 และประกาศ "เรียงช่อง" ปี 2558 ให้โครงข่ายการรับชมอื่น ทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี นำช่องรายการของทีวีดิจิตอลไปออกอากาศตรงตามหมายเลขการประมูลถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการ "ชดเชย" และ "ทดแทน" โครงข่ายภาคพื้นดินเพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลที่คนดูหาช่องไม่เจอซ้ำรอยในอดีตที่นับเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ในการรับฟังความคิดเห็นสมาคมฯ ได้แสดงความคิดเห็นไปและถาม พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.ประธานในที่ประชุมครั้งนั้น ว่าจะออกประกาศฯ เมื่อใด ท่านแจ้งว่า ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาบอร์ด กสทช.ฝั่งกิจการโทรทัศน์ได้ประชุม แต่องค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจากบอร์ดบางส่วนเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงไม่สามารถออกประกาศได้ คิดว่า คนที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการดีที่สุดน่าจะเข้าใจอุตสาหกรรม แต่กลับเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นตรงกับศาลปกครองกลางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการเมื่อต้องประมูลทีวีดิจิตอลด้วยมูลค่ารวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันประชาชนดูทีวีดิจิตอลผ่านกล่องรับสัญญาณเพียงร้อยละ 20 นอกนั้นเป็นอุปกรณ์อื่น ขอเรียกร้องให้กรรมการ กสทช. ต้องเร่งประชุมเพื่อออกประกาศเรียงช่อง รู้ว่าการออกประกาศไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ขอให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนยืนอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการ โดย กสทช. จะออกประกาศก่อนศาลปกครองฯ มีคำวินิจฉัย หรือ มีคำวินิจฉัยแล้วก็ได้ ถ้าถึงที่สุดอาจจะต้องฟ้อง กสทช.ถ้าสิ่งที่กำลังทำเกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรม ถ้าจำเป็นต้องทำเราอาจจะต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นเรื่องวิกฤติของทีวีดิจิตอล

นายสุภาพ กล่าวต่อว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระบบดิจิตอลทำให้ไม่มีผู้เสียหายจากการเรียงช่องมีแต่ผู้แสวงประโยชน์จากการยกเลิก "ประกาศเรียงช่อง" เนื่องจากปัจจุบันการใช้คลื่นความถี่ในโครงข่ายของ "ทีวีดาวเทียม" และ "เคเบิลทีวี" เป็นไปอย่างไม่จำกัดและสามารถจัดรูปแบบการเรียงช่องเป็นหมวดหมู่เพื่อบริการผู้ชมที่เป็นสมาชิกตามความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละรายซึ่งผู้ประกอบการโครงข่ายก็ยืนยันเองปัจจุบันไม่มีปัญหาเรื่องการจัดลำดับและหมวดหมู่หมายเลขช่องกับสมาชิกตามความต้องการแต่ละพื้นที่แล้ว ทีวีดิจิตอลเป็นสื่อหลักของชาติการเรียงช่องตามลำดับหมายเลขการประมูลให้ตรงกันทั้งประเทศในทุกโครงข่ายทุกช่องทางการรับชมเป็นความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เพราะเป็นเงื่อนไขหลักที่ผู้ประกอบการทุ่มเงินประมูลเพื่อสิทธิ์ในการเลือกหมายเลขช่องเพื่อง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ชมและต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการทำการตลาดเพื่อสื่อสารกับผู้ชมจนเกิดการจดจำ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอเกิดความเสียหายต่อการอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างประเมินค่าไม่ได้

อย่างไรก็ตาม จากกรณีพิพาทนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่องปี 2558 ไม่ว่ารูปแบบใดย่อมเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลอย่างมากมายมหาศาล ช่องที่ออกอากาศในหมายเลข 1-10 ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีตามข้อเสนอของ กสทช. ย่อมเป็นคู่แข่งขันทางธุรกิจต่อทีวีดิจิตอล แต่มีต้นทุนต่ำกว่ามากไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตส่งผลถึงคุณภาพการผลิตของทีวีดิจิตอลในอนาคตกระทบต่อความนิยมและเกิดการตัดราคาค่าโฆษณา หรือ หากศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้นจะก่อให้เกิดสุญญากาศสำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทันที ลำดับช่องรายการไม่เป็นไปตามเดิม ผู้ชมสับสนหาช่องเดิมไม่เจอเป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี 5G จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิตอลสื่อหลักของชาติ

นายกสมาคมทีวีดิจิตอล กล่าวอีกว่า ประกาศเรียงช่องปี 2558 คือ หัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลและเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวีหากต้องมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่องปี 2558 ย่อมเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน

ด้าน นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กล่าวว่า ฟรีทีวีเป็นบริการสาธารณะ ประชาชนเมื่อต้องการรับข้อมูลข่าวสารจะได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหมายเลขช่องจะกระทบกับการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล เมื่อประชาชนสับสน ลูกค้าสับสน ประชาชนดูทีวีไม่ได้จะกระทบกับเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลทั้งหมด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ