กรุงเทพมหานครมีพื้นที่กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร รองรับและให้บริการประชาชนในแต่ละวันรวมกว่า 10 ล้านคน เป็นเมืองที่มีผู้คนที่หลากหลาย และความต้องการที่แตกต่าง ส่งผลให้มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วจนเกินกว่าที่กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรบริหารจัดการเมืองจะรองรับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงได้โดยลำพัง
ในปี พ.ศ. 2563 กรุงเทพมหานครได้เปิดพื้นที่เพื่อให้ภาคีพัฒนาทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่โดยสนับสนุนให้ทุกพื้นที่เขตมีการจัดเวทีประชาคมเพื่อระดมความคิดเห็น จัดทำข้อเสนอในการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ของตนเอง กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่
ขณะเดียวกันในระดับชุมชนกำหนดให้มีการสนับสนุนทุกชุมชนตรวจสอบปัญหาและความต้องการของประชาชนในชุมชน จัดทำแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง โดยนำเสนอความต้องการในรูปแผนงานโครงการที่ต้องการสนับสนุนผ่านในงานของกรุงเทพมหานครเพื่อบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงานทั้งสำนักและสำนักงานเขต ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการให้มีเจ้าของเมืองเข้ามาร่วมสร้างเมืองของกรุงเทพอย่างเป็นรูปธรรม
ในปี พ.ศ. 2564 จึงเป็นช่วงของการต่อยอดและขยายผลพลังของการมีส่วนร่วม ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ
1. ผลักดันให้เกิดการบูรณาการการให้บริการของหน่วยด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะ ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการให้บริการสาธารณะและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เมืองในระดับ กทม. และพื้นที่เขต
2. เพิ่มความเข้มข้นให้กับบทบาทของภาคประชาสังคมในการร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาเมือง เพิ่มช่องทางการเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายและการวางแผนใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาเมืองของภาพประชาสังคม โดยให้ภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่เขตเข้ามาร่วมผลักดันการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ กทม.
3. สร้างความไว้วางใจในการบริหารจัดการเมืองทั้งในส่วนของข้าราชการประจำและข้าราชการเมือง พัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการการร้องเรียนเรื่องทุจริตที่หลากหลายช่องทาง มีกระบวนการสอบสวน ลงโทษที่โปร่งใส มีความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหาและปริมาณของปัญหาที่ได้รับการแก้ไขควบคู่กัน
กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาและยกระดับการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของกรุงเทพมหานครในระยะยาว อาทิ พระปกเกล้าสกายปาร์ค หมอชิตคอมเพล็กซ์ สถานีกลางบางซื่อ สถานีขนส่งเอกมัย รถไฟฟ้าที่กำลังเตรียมเปิดใช้งาน เป็นต้น
ประชาชนที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อคนกรุงเทพฯ สู่เป้าหมายการสร้าง “มหานครประชาธิปไตย” ที่สมบูรณ์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.bangkok.go.th แอปพลิเคชัน BKK-CONNECT สายด่วนกทม. CALL CENTER 1555 รวมไปถึง FACEBOOK และ TWITTER ของสำนักงานประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายเว็บไซต์หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร