เกาะติดแผนฟื้นฟู “การบินไทย” “วิษณุ” ขอดูชื่อทีมกู้ชีพก่อนยื่นศาล 17 ส.ค.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เกาะติดแผนฟื้นฟู “การบินไทย” “วิษณุ” ขอดูชื่อทีมกู้ชีพก่อนยื่นศาล 17 ส.ค.

Date Time: 11 ส.ค. 2563 08:59 น.

Summary

  • “วิษณุ” เรียกคณะกรรมการแก้ปัญหาการบินไทย แจงความคืบหน้า ก่อนเส้นตายยื่นรายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา 17 ส.ค.นี้

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

“วิษณุ” เรียกคณะกรรมการแก้ปัญหาการบินไทย แจงความคืบหน้า ก่อนเส้นตายยื่นรายชื่อคณะทำแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา 17 ส.ค.นี้ ด้าน “ชาญศิลป์” ลั่นใช้สรรพกำลังเต็มที่ฟื้นฟูให้กลับมาให้ได้ วอน 9 หน่วยงานคู่สัญญาผ่อนปรน-ยืดสัญญาทำธุรกิจกับการบินไทย หวังให้เดินหน้าตามแผนฟื้นฟู

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้เชิญคณะกรรมการมารายงานความคืบหน้าขั้นตอนการจัดทำแผนฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาของการบินไทย เพราะวันที่ 17 ส.ค.นี้ การบินไทยจะนำรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู เสนอให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณา หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ยื่นขอล้มละลายไปแล้ว

“การประชุมครั้งนี้ไม่มีประเด็นอะไรต้องติดตามเป็นพิเศษ เป็นการรายงานตามเวลาที่นัดหมายไว้ ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นการรายงานรายชื่อผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลสัปดาห์หน้า ผมไม่ได้ขอดูแผน เพราะจะเป็นการล้วงลูก และเป็นครั้งแรกที่ได้พบนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) คนใหม่ ถือเป็นโอกาสที่ได้สอบถามถึงปัญหาที่จะให้รัฐบาลช่วย เมื่อการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว”

ด้านนายชาญศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 17 ส.ค.นี้จะเสนอรายชื่อคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูให้ศาลพิจารณา ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด, พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และตน หากศาลเห็นด้วยกับรายชื่อ จะมีคำสั่งรับผู้ทำแผนตามที่บริษัทเสนอ และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเปิดให้เจ้าหนี้ชี้แจงรายละเอียด และจะลงรับรายชื่อเจ้าหนี้ เพื่อให้ทราบรายชื่อเจ้าหนี้และมูลหนี้ทั้งหมด ซึ่งจะกำหนดระยะเวลาว่าจะให้ยื่นถึงเมื่อไร และกำหนดระยะเวลาทำแผนฟื้นฟูด้วย

“ความยากของการทำแผนฟื้นฟูคือ การประเมินสถานการณ์ในอนาคตว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร รายรับ รายจ่ายจะเป็นอย่างไร จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหนี้รายใดมายื่นคัดค้าน และเจ้าหนี้ที่ได้เดินสายพบ ทั้งสถาบันการเงิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าของที่เป็นเจ้าหนี้การเช่า เห็นใจ เข้าใจ และเห็นด้วยที่ให้เราเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ซึ่งต้องเอาความรู้ที่มีมาช่วยบริหารการบินไทย ผมมองว่ายังมีจุดแข็งทั้งคนและทรัพยากรสำคัญที่จะฟื้นฟูให้กลับมาได้ ที่สำคัญ เป็นแบรนด์ของประเทศ มีการจ้างงานจำนวนมาก เอานักท่องเที่ยวเข้าไทยปีละ 17-18 ล้านคน มีผลต่อเศรษฐกิจมาก จะปล่อยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องใช้สรรพกำลังฟื้นฟูกลับมาให้ได้”

ส่วนกรณีที่การบินไทยทำสัญญากับ 9 หน่วยงานภาครัฐกว่า 95 สัญญา ในช่วงที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ เช่น สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาการประกอบการในสนามบิน สัญญานำสินค้าเข้า-ออก เป็นต้น ได้หารือกับนายวิษณุให้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งนายวิษณุได้ช่วยประสาน และหารือกับหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยเหลือการบินไทยแล้ว

ส่วนนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนายการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สัญญาของการบินไทยที่มีอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ มีทั้งที่กำลังจะหมด และยังไม่หมดสัญญา ในส่วนที่กำลังจะหมดได้ขอให้ต่อสัญญาออกไปก่อน ส่วนที่ยังไม่หมดได้ขอให้ไม่ใช้สิทธิ์เลิกสัญญา รวมทั้งขอผ่อนผันเงื่อนไขสัญญาบางส่วน เพื่อให้การบินไทยเดินหน้ากิจการต่อได้ โดย สคร.จะเจรจากับคู่สัญญาในส่วนของสัญญาที่เข้าตามแผน พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐวิสาหกิจ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ