ปลดล็อกดาวน์คนไทยช็อปกระหน่ำ “กสิกรไทย” ระบุยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมพุ่งพรวด 40% เฉพาะบัตรเครดิตกสิกรไทย เดือน พ.ค.ยอดใช้จ่ายถึง 20,000 ล้านบาท เดือน ก.ค.ใช้จ่ายใกล้เคียงก่อนโควิด เมืองท่องเที่ยวเริ่มมีเงินหมุน ด้าน “คลัง” ปลื้มใจโครงการเราเที่ยวด้วยกันคนสนใจล้นหลาม
นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยอนุญาตให้ร้านอาหาร กิจการค้าปลีก-ส่ง ห้างสรรพสินค้าทยอยเปิดให้บริการ ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของประชาชนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 30-40% โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดท่องเที่ยว
“ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยเริ่มมีแนวโน้มกลับมาเป็นบวก โดยมียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกสิกรไทยในเดือน พ.ค.ประมาณ 20,000 ล้านบาท ขยายตัวจากเดือน เม.ย.ถึง 30% ในจำนวนนี้เป็นการใช้ชำระที่หน้าร้านจำนวน 15,700 ล้านบาท ขยายตัวถึง 38% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน”
ขณะเดียวกัน แนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตรได้ขยายตัวต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 เดือนนี้ โดยเดือน ก.ค.มียอดสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 27,000 ล้านบาท สูงเกือบเทียบเท่ากับยอดใช้บัตรในเดือน ม.ค. ที่เป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ในไทย และปกติจะเป็นเดือนที่คนไทยมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงที่สุดเดือนหนึ่งในรอบปี แสดงให้เห็นว่า กลุ่มลูกค้าผู้ถือบัตรของธนาคารเริ่มมีความมั่นใจในการใช้จ่ายใกล้เคียงกับภาวะปกติแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจดูในแง่พื้นที่ที่มีการใช้จ่าย พบว่า นอกจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีลูกค้ากลับมาใช้จ่ายดีขึ้นแล้ว ในพื้นที่ต่างจังหวัดบางจังหวัด เริ่มมีการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ดีขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.เป็นต้นมา อาทิ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นครราชสีมา จันทบุรี ปราจีนบุรี และตาก ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ สำหรับจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญแห่งอื่น อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต ยังรอการฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลบวกมากขึ้นจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาล ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มาตรการดังกล่าวทำให้มีเม็ดเงินรายได้ส่วนเพิ่มในตลาดท่องเที่ยวไทยได้อีกราว 41,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้และช่วยเศรษฐกิจของประเทศให้หมุนเวียนเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากรัฐบาลได้เริ่มโครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2563 เป็นต้นมา ในภาพรวมมีผลตอบรับในทางที่ดี ประชาชนสนใจลงทะเบียนถึง 4.76 ล้านราย ลงทะเบียนสำเร็จ 4.51 ล้านราย และมีโรงแรมสนใจเข้าร่วมโครงการ 6,815 แห่ง โดยเมืองหลักที่มีโรงแรมเข้าร่วมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่เมืองรอง 5 อันดับแรก คือ เชียงราย จันทบุรี น่าน นครศรีธรรมราช และตราด โดยมีการจองโรงแรมแล้ว 391,731 ห้อง จ่ายเงินจองเรียบร้อยแล้ว 388,461 ห้อง ซึ่งในจำนวนนี้มีโรงแรมที่มีการจองห้องพักแล้วจำนวน 3,465 แห่ง ราคาห้องพักเฉลี่ยต่อคืนอยู่ที่ 2,950 บาท และหลังจากโครงการได้เปิดให้ร้านค้าโอทอป (OTOP) เข้ามาลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. พบว่า มีร้านค้าโอทอปเข้าร่วม 453 แห่ง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตรวจสอบพบผู้ประกอบการที่พักขนาดเล็ก 1 แห่งที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยอาจเข้าข่ายทุจริตจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยพบว่า มียอดการจองห้องพักเต็มตลอดเวลาและเกินกว่าจำนวนห้องพักที่มีอยู่ รวมทั้ง ผู้เข้าพักมีประวัติการใช้คูปอง หรือ e-Voucher การซื้ออาหารในที่พัก ขณะที่โรงแรมดังกล่าวไม่มีห้องอาหารไว้ให้บริการแก่ผู้เข้าพัก โดยได้ทำการระงับการจ่ายเงินสนับสนุนค่าที่พักในสัดส่วน 40% ของราคาที่พัก และ E-Voucher แล้ว และจะพิจารณาตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการต่อไป.