เซ่นโควิด! คลังหั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 8.5%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เซ่นโควิด! คลังหั่นจีดีพีปีนี้ติดลบ 8.5%

Date Time: 31 ก.ค. 2563 06:15 น.

Summary

  • สศค.ได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบ 8.5% ลดลงจากเดิมเมื่อเดือน ม.ค.ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% และลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.4%

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้


ผ่านจุดต่ำสุดไตรมาส 2 ไปแล้ว หวังปีนี้เศรษฐกิจผงกหัวบวก 5%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวติดลบ 8.5% ลดลงจากเดิมเมื่อเดือน ม.ค.ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% และลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.4% สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักหดตัวลง และแม้ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นหลายด้าน แต่ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังหดตัว โดยเดือน ก.ค. การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวติดลบ 2.6% จากช่วงปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนติดลบ 12.6% มูลค่าส่งออกติดลบ 11% และการนำเข้าติดลบ 14.2% ส่วนนักท่องเที่ยวปีนี้อยู่ที่ 6.8 ล้านคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาไทยถึง 40 ล้านคน

ทั้งนี้ ไทยผ่านช่วงเศรษฐกิจต่ำสุดในไตรมาส 2 ไปแล้ว ซึ่งติดลบระดับสองหลัก หลังจากนี้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ตามการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในไตรมาส 3-4 คาดว่าปีหน้าจีดีพีจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 4-5% ส่วนการส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกได้ 5% เนื่องจากการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เชื่อว่าจะเริ่มใช้กลางปีหน้า ซึ่งหากวิกฤติโควิดดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญ เพราะช่วยผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น สศค.คาดว่าปีหน้านักท่องเที่ยวจะเข้ามา 15-16 ล้านคน ทำให้หลายธุรกิจฟื้นตัวได้ โดยธุรกิจที่ได้ผลบวกจากการปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่มากที่สุด คือ ธุรกิจบริการดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซ รองลงมาคือธุรกิจที่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 และการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว 4.3% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 9.7% ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะต่อไป จะเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับการบริโภคเป็นหลัก ส่วนจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 เฟส 2 หรือไม่นั้น ขณะนี้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศเริ่มดีขึ้นแล้ว เม็ดเงินเยียวยาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังเหลืออีก 200,000 ล้านบาท มองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมด ควรเก็บไว้เพื่อรองรับหากเกิดการระบาดรอบ 2.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ