ทบทวนแผนสร้างรถไฟฟ้าใหม่ ขนส่งทางรางชง “ยึด” รถไฟสีเทา-เขียวจาก กทม.

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทบทวนแผนสร้างรถไฟฟ้าใหม่ ขนส่งทางรางชง “ยึด” รถไฟสีเทา-เขียวจาก กทม.

Date Time: 29 ก.ค. 2563 07:15 น.

Summary

  • “ขนส่งทางราง” จ่อชง คจร.-คมนาคม ทบทวนแผนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 โดยเร่งสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม 5 สายทางในปี 64-73 พร้อมเสนอดึงกลับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“ขนส่งทางราง” จ่อชง คจร.-คมนาคม ทบทวนแผนรถไฟฟ้าระยะที่ 2 โดยเร่งสร้างรถไฟฟ้าเพิ่ม 5 สายทางในปี 64-73 พร้อมเสนอดึงกลับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ท่าพระ และสายสีเขียวต่อขยายทิศใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู จาก กทม.มาให้ รฟม.สร้างเองเพราะไม่มีความคืบหน้า คาดเมื่อระบบรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ ทั้งระยะที่ 1-ระยะที่ 2 ในปี 75 จะมีคนใช้บริการเพิ่มเป็น 30% ของระบบขนส่งรวม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงนโยบายแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายชัดเจนที่จะขับเคลื่อนการลงทุนระบบรางอย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและใช้ระบบรางในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนในอนาคต โดยระบบรางสามารถครอบคลุมการเดินทางทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ศึกษารายละเอียด และความจำเป็นที่จะพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุม และขยายเส้นทางเพื่อตอบสนองการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงคมนาคม ภายใต้การดำเนินการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พบว่าได้ก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมไปแล้วกว่า 14 สายทาง ระยะทางรวม 553.41 กม. มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 367 สถานี และจะทยอยเปิดให้บริการจนครบทุกสายถึงปี 70 นั้น

“ขณะนี้ ขร.มีแนวคิดที่จะทบทวนแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 จากผลศึกษาของไจก้า ตามแนวคิด M-Map 2 ที่ศึกษาไว้ โดยสรุปจะมีการก่อสร้างขนส่งสาธารณะระบบราง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในระยะที่ 2 อีก 5 สายทาง ระยะทางรวม130กม. ตามผลการศึกษาเดิมที่มีแผนจะเริ่มดำเนินการในปี 64-65 และแล้วเสร็จในปี 72-73 ประกอบด้วย สายทางที่1 สายแม่น้ำทางรถไฟสายเก่า-บางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ 2.สายสีเทา วัชรพล-รามอินทรา-ลำลูกกา 3.ส่วนต่อขยายสีแดง รังสิต-ธัญบุรี 4.สายใหม่ สถานีขนส่งสายใต้-หลักสี่ และ 5.สายใหม่ บางหว้า-บางกะปิ”

ขณะที่จะมีการเสนอขอทบทวนความรับผิดชอบการก่อสร้างในบางสายทาง ว่าใครมีความพร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการก่อสร้างมากที่สุด จากเดิม กทม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานหรือ รฟม. ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วง รามอินทรา-ลำลูกกา และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ขร.อยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดและพิจารณาความเหมาะสม ก่อนนำเสนอนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม เห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการ จัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบการทบทวนแผน M-Map 2 ต่อไป

ทั้งนี้ ตามแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นี้ ผลการศึกษามีเป้าหมายที่จะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมรัศมีจากการให้บริการรถไฟฟ้าเดิมออกไปอีกรัศมี 20 กม. รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางรางตาม M-Map ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อตอบโจทย์การขยายตัวของเมืองที่ปัจจุบันขยายมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 นี้ จะเพิ่มผู้ใช้ระบบ MRT จาก 6.2%เป็น 15% เมื่อเทียบกับระบบขนส่งอื่น

นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการทบทวนแผนพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 เนื่องจากปัจจุบัน รถไฟฟ้าหลายสายทางที่ได้มีการโอนความรับผิดชอบให้ กทม. แต่การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้า ประกอบกับภารกิจของ รฟม.ที่ดำเนินการในแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 1 แล้วเสร็จตามแผน จึงมีแนวคิดที่จะขอกลับมาให้ รฟม.ดำเนินการ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ท่าพระ ซึ่งแนวคิดของ ขร.หากมาให้ รฟม. ดำเนินการช่วง วัชรพล-สถานีรามคำแหง เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออก ของ รฟม.ก่อน จะช่วยขนถ่ายประชาชนฝั่งตะวันออกเชื่อมต่อทิศเหนือของ กทม.ได้ดี

ขณะที่ในส่วนของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทิศใต้ จากเดิม หมอชิต-สมุทรปราการ ซึ่งตามแผนจะต้องต่อขยายจากสมุทรปราการ-บางปู ทาง กทม.ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน หาก รฟม.นำมาดำเนินการเองจะทำให้การเชื่อมต่อขนส่งผู้โดยสารจากทิศใต้ กทม. ไปยังทิศเหนือ กทม.ชัดเจนขึ้น

“ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ลงทุนระบบขนส่งทางรางทุกโครงการแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท มีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 6% ของการเดินทางทั้งหมดที่มีคนเดินทางเฉลี่ย 20 ล้านคน/เที่ยว/วัน และจากการศึกษาคาดการณ์ว่าในอนาคตหากมีการพัฒนาระบบโครงข่ายระบบรางครบทุกเส้นทาง จะทำให้ปริมาณผู้โดยสารเดินทางในระบบรางเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30% ในปี 75”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ