การประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติเปิดประเทศรับ “ต่างชาติ” เฟสแรก เช่น ผู้ร่วมงานแสดงนิทรรศการ กองถ่ายทำภาพยนตร์ เมดิคอล ทัวริสต์ ผู้ถือบัตรอีลิตการ์ด และ แรงงานต่างชาติ 3 ประเทศ...
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะ 15 ล้านคนแล้ว มาตรการผ่อนคลายเฟส 6 นี้... เท่ากับว่า “ประเทศไทย”...“เปิดประเทศเฟส 1”
เหลียวมองความพร้อม นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT บอกว่า หลังคลายล็อกกิจกรรมระยะที่ 5 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้เริ่มมีผู้โดยสารมาใช้บริการเดินทางภายในประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ข้อมูลระหว่างวันที่ 1-15 กรกฎาคม 2563 มีเที่ยวบิน 3,205 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 214 เที่ยวบิน แบ่งเป็นขาเข้า 1,604 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขาออก 1,601 เที่ยวบิน โดยมีผู้โดยสารทั้งสิ้น 174,912 คน เฉลี่ยวันละ 11,661 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้าจำนวน 85,758 คน และผู้โดยสารขาออกจำนวน 89,154 คน
มาตรการสำหรับผู้โดยสาร 6 สนามบินของ AOT แบบ “Transport New Normal” และความพร้อมในการให้บริการ เน้นย้ำมาตรการด้านสุขอนามัยและความสะอาดสูงสุด
เริ่มจาก...จำกัดประตูทางเข้า-ออกอาคารผู้โดยสาร กำหนดให้ผู้ใช้บริการทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในสนามบิน ต้อง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ที่อยู่ในสนามบิน และมี มาตรการตรวจคัดกรองอุณหภูมิร่างกายทุกคน ที่เดินทางเข้า-ออกภายในอาคารผู้โดยสาร
หากพบว่า มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.3 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่มีสิทธิปฏิเสธการให้เข้าพื้นที่ในท่าอากาศยานได้ พร้อมกำหนดสัญลักษณ์แสดงตำแหน่งการเดิน การยืนตามจุดต่างๆ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในทุกพื้นที่ที่ให้บริการ ทั้งโซนผู้โดยสารขาเข้า...ขาออก โดยต้องเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
การทำความสะอาดภายในสนามบิน เพิ่มรอบความถี่ในการ ทำความสะอาดทุกพื้นผิวสัมผัส ด้วยน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องทุกวัน เช่น รถเข็นกระเป๋า เก้าอี้ เคาน์เตอร์ให้บริการสายการบิน เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ เคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทาง ตู้เอทีเอ็ม ฯลฯ
รวมทั้งจัดให้มีพรมเช็ดเท้าชุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อ จุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ ทั้งยังย้ำให้ผู้โดยสารทุกคนหมั่นล้างมือด้วยสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ
อีกเรื่องสำคัญ...จัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คำแนะนำผู้โดยสารโหลดแอป “AOT AIRPORTS Application” ก่อนการเดินทางทุกครั้ง พร้อมกรอกข้อมูลก่อนมาใช้บริการ เพื่อลดระยะเวลา
เพื่อให้สนามบินมีศักยภาพรองรับความต้องการการเดินทางที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มุ่งสู่ก้าวต่อไปอย่าง “มั่นคง” และ “ยั่งยืน”
“AOT” ครบรอบ 41 ปี ยังคงเดินหน้าพัฒนาสนามบินในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
เรายังดำเนินงานโครงการพัฒนาสนามบินทุกแห่ง เพื่อให้สามารถรองรับการจราจรในอนาคต โดยในส่วนของ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และบรรเทาความแออัดของเที่ยวบินภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความคืบหน้าในการดำเนินงานก่อสร้าง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ไปแล้วกว่า 90%
ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน งานภูมิทัศน์ ไฟฟ้า เครื่องกลสุขาภิบาล ระบบสารสนเทศภายในอาคาร ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัย
อาทิ ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ความเร็วสูงสุด 180 ใบต่อนาที และ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ซึ่งเป็นระบบแรกของสนามบินในประเทศไทยที่มีการใช้รถไฟฟ้าไร้คนขับ รับส่งผู้โดยสารจากอาคารผู้โดยสารหลักมายังอาคาร SAT-1 ผ่านทางอุโมงค์ใต้ดิน ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 นาที
รถไฟฟ้า APM 1 ขบวน ประกอบด้วย 2 ตู้ ขนส่งผู้โดยสารได้สูงสุด 6,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง มีขบวนรถรับส่งทุกๆ 3 นาที...ในชั่วโมงเร่งด่วนจะเพิ่มเป็น 4 ขบวน โดยผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องบินที่อาคาร SAT-1 ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเอกสารทุกอย่างให้เรียบร้อยที่อาคารผู้โดยสารหลัก
และ...เข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบินบริเวณ Concourse D จะอยู่บริเวณเกต D5 ในปัจจุบัน หรือบริเวณประติมากรรมเทวตำนานการกวนเกษียรสมุทร เพื่อลงบันไดเลื่อนสู่สถานีอาคารผู้โดยสารหลัก และโดยสารรถไฟฟ้า APM ไปยังสถานีอาคาร SAT-1
นิตินัย ย้ำว่า รถไฟฟ้า APM ขบวนแรกมาถึงไทยเรียบร้อยแล้ว พร้อมทดสอบเพื่อให้ระบบมีความเสถียร แม่นยำ ตรงเวลา ส่วนรถไฟฟ้าอีก 5 ขบวนจะขนส่งมาทั้งหมดปลายปีนี้ ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ภาพรวมการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการต้องเลื่อนออกไป
คาดว่า...จะทำการทดสอบระบบต่างๆ ร่วมกันในเดือนเมษายน 2565 ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ ระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระ ระบบบริหารลานจอดอากาศยาน ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง
ประเด็นสำคัญต่อจากนี้...คือ “เที่ยวบิน” และ “ผู้โดยสาร” จะเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนปกติ
“เอโอทีอาจต้องพิจารณาการเปิดใช้อาคาร SAT-1 ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารต่อไป ส่วนความคืบหน้า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ได้มีการก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารบริเวณลานจอดรถรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอาคารที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ด้านทิศเหนือ”
อาคารนี้มีพื้นที่ใช้งานราว 3,000 ตารางเมตร สำหรับกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ได้ใช้เป็นพื้นที่จัดกระเป๋าเดินทางก่อนขึ้นเครื่อง ช่วยลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศได้...มีการก่อสร้างทางเดินเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง ระยะทาง 200 เมตร...บางซื่อ-รังสิต เข้าตรงบริเวณอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น
คาดว่า...ดำเนินการเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2563
สำหรับสนามบินภูมิภาคอีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่...ยังคงเดินหน้าพัฒนาตามแผนแม่บทการพัฒนาสนามบิน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและรักษามาตรฐานความปลอดภัย
“เพื่อให้สนามบินประเทศไทยมีศักยภาพ สามารถรองรับความต้องการการเดินทางที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งการขนส่ง การท่องเที่ยว ธุรกิจการบริการของประเทศให้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย”
นิตินัย ฝากทิ้งท้ายว่า AOT...มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ พัฒนาอย่างต่อเนื่องและยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม เพื่อให้เติบโตก้าวไปอย่างมั่นคง
“วิถีนิวนอร์มอล...เว้นระยะห่างทางสังคมยังมีความจำเป็น มาตรการสำหรับผู้โดยสารแบบ Transport New Normal ปรับตัวตามสถานการณ์...ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทุกๆคน”.