ฝากความหวัง “ไทยเที่ยวไทย”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฝากความหวัง “ไทยเที่ยวไทย”

Date Time: 28 ก.ค. 2563 05:03 น.

Summary

  • หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักทุกอุตสาหกรรมร้านค้าและภาคบริการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักทุกอุตสาหกรรมร้านค้าและภาคบริการ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ดังนั้นที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 เช่น มาตรการเราไม่ทิ้งกัน จ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 5,000 บาท 3 เดือน การให้ออมสินปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 10,000 ล้านบาท ช่วยธุรกิจท่องเที่ยวเป็นต้น

จนล่าสุด รัฐบาลให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย ดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านโครงการ “เที่ยวปันสุข” วงเงิน 22,400 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ต.ค.63 โดยหวังให้เกิด “ไทยเที่ยวไทย” กระตุ้นการบริโภคจากในประเทศ เพื่อต่อลมหายใจภาคการท่องเที่ยวของไทยที่กำลังซบเซาในขณะนี้

สำหรับโครงการเที่ยวปันสุข ประกอบด้วย แพ็กเกจ “เราเที่ยวด้วยกัน” กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ 3 อย่าง คือ 1.โรงแรมที่พัก รัฐบาลจะสนับสนุน40% ของราคาที่พักต่อห้องต่อคืนไม่เกิน 5 คืน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน จำกัดจำนวน 5 ล้านสิทธิ์ ใครมาก่อนได้ก่อน 2.ค่าตั๋วเครื่องบิน จำนวน 2 ล้านใบ โดยจะจ่ายเงินคืนให้อัตรา 40% ของราคาตั๋วไม่เกิน 1,000 บาทต่อที่นั่งผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

และ 3.คูปอง (E-Voucher) สนับสนุนค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวคนละ 600 บาท อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ออกมาท่องเที่ยวในวันธรรมดามากขึ้น รัฐบาลจึงเพิ่มวงเงินในส่วนค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวเป็น900 บาทต่อวันหากเดินทางไปเที่ยวในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ส่วนวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) ยังได้รับ 600 บาทต่อวันเท่าเดิม

ส่วนแพ็กเกจที่สอง คือ “กำลังใจ” กรอบวงเงิน 2,400 ล้านบาท สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 1.2 ล้านคน โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการเดินทาง 2 วัน 1 คืนผ่านบริษัทท่องเที่ยว เริ่มลงทะเบียนรับสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.63 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ รัฐบาลหวังว่ามาตรการ “เที่ยวปันสุข” จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้เกิดรายได้ 50,000 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในระบบ 700,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถประคองธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศในช่วงที่ชาวต่างชาติไม่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยได้

โดยตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราเที่ยวด้วยกัน.com  เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้มาลงทะเบียนร่วมมาตรการมากถึง 4.5 ล้านคน และได้ใช้สิทธิ์ในการจองโรงแรมที่พัก ซึ่งต้องไม่ใช่จังหวัดตามที่อยู่ทะเบียนบ้านแล้วมากกว่า 234,670 ราย จากจำนวน 5 ล้านสิทธิ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนจองสิทธิ์ทั้งหมดหลายล้านคนแล้ว ตัวเลขจองโรงแรมเพื่อเดินทางท่องเที่ยวในมาตรการยังถือว่าน้อยมาก ไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด

สำหรับ “สาเหตุ” ที่ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนไม่มาใช้สิทธิ์ในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เกิดจากที่มีโรงแรมและที่พักบางแห่ง “ฉวยโอกาส” ขึ้นราคาที่พักแพงลิ่วหลายเท่าตัวจากราคาปกติ ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน ดังนั้นจึงทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนบางคนจองที่พักโดยไม่รับส่วนลดจากภาครัฐ เพราะเมื่อคำนวณราคาห้องพักรวมกับส่วนลดรัฐบาล 40% แล้ว ยังจ่ายราคาเดิมที่จองเองแบบไม่เข้าร่วมโครงการ

อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การที่ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ก.ค.63 เข้าร่วมโครงการน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพียง 35,000แห่งเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีตัวเลือกน้อย ซึ่งอาจไม่จูงใจให้ประชาชนเข้าร่วมมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เท่าที่ควร

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนและจองโรงแรมในมาตรการไปแล้ว ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ที่มียอดจองสูงสุด ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกและตะวันตก โดยประชาชนนิยมจองโรงแรมที่พักติดทะเล และส่วนใหญ่จะจองเพียง 1 คืน 2 วัน เท่านั้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ภาคใต้ อาทิ จังหวัดกระบี่ เป็นต้น ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมจองที่พักจำนวน 2 คืน 3 วัน

สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้ คือโครงการ “เที่ยวปันสุข” จะช่วยเติมเม็ดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจในช่วง 3-4 เดือนต่อจากนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และจะมีคนใช้สิทธิ์ครบตามเป้าที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่ ในสภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศกำลังย่ำแย่ กำลังซื้อประชาชนหดหาย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเที่ยวในประเทศเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายปีอย่างที่คิดไว้หรือไม่ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่รู้จะไปสิ้นสุดตรงไหน.

นันท์ชยา ชื่นวรสกุล


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ