มุมมองเอกชน "ทีมเศรษฐกิจใหม่" ในฝัน  ฝากโจทย์หินแก้วิกฤติประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มุมมองเอกชน "ทีมเศรษฐกิจใหม่" ในฝัน ฝากโจทย์หินแก้วิกฤติประเทศ

Date Time: 27 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • การตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจ” ใหม่ของรัฐบาล ท่ามกลาง “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่คาดกันว่าจะเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย

Latest

“เจ้าสัวธนินท์” มองโลก มองธุรกิจ เชื่อมือ รัฐบาล ดันไทยเป็น “ฮับการเงิน” ปลุกผู้ค้าก้าวทัน AI-เทคฯ

 

การตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปลี่ยน “ทีมเศรษฐกิจ” ใหม่ของรัฐบาล ท่ามกลาง “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่คาดกันว่าจะเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยความไม่แน่นอน ซึ่งภาคธุรกิจไทยกำลังจับตามากที่สุดในขณะนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหลายสำนักประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะติดลบมากถึง 8.1% หรือมากกว่า ขณะที่แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจที่ทรุดลงรุนแรงจะยังทำให้ความตกต่ำลากยาวต่อเนื่องไปครึ่งปีหลังของปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 64 หรือสิ้นปีหน้า

จำนวนธุรกิจที่จะขาดสภาพคล่อง ปิดกิจการถาวร จะเห็นชัดมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จำนวนคนตกงาน และผู้เดือดร้อนในการดำรงชีวิต จำนวนผู้ที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจะยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะที่การออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเงินจำนวนมหาศาล และส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับขึ้นไปใกล้แตะเพดาน 60% ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปลดลง

รายชื่อแคนดิเดตทีมเศรษฐกิจ” รัฐมนตรีใหม่ที่จะนำพาเศรษฐกิจไทยฝ่าช่วงวิกฤตินี้ ได้รับการยอมรับจากบรรดานักธุรกิจชั้นนำของประเทศมากหรือน้อยแค่ไหน สามารถเป็น “ทีมเศรษฐกิจ” ในฝันได้หรือไม่ ภาคเอกชนมีมุมมองและข้อเสนอในการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจต่อจากนี้อย่างไร อยากให้แก้ไขเรื่องใดเร่งด่วน

“ทีมเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ความคิดเห็นจากนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ทั้งในภาคตลาดเงิน ตลาดทุน และภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ เพื่อช่วยตั้งโจทย์เร่งด่วนของเศรษฐกิจไทย ที่ฝากให้ “ทีมเศรษฐกิจ” ชุดใหม่เร่งดำเนินการ

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ. บัวหลวง จำกัด และประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน

“การเปลี่ยนม้ากลางศึกในยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้เสี่ยงมาก คนที่มาใหม่ต้องเป็นคนที่ใช่สำหรับประเทศจริงๆ มิฉะนั้นนายกรัฐมนตรีผู้เสนอชื่อคนใหม่เข้าเป็น ครม.ก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ”

เพราะท่านยืนยันว่าท่านคือผู้เลือกและท่านเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะโทษพรรคการเมืองที่กดดันไม่ได้ หากท่านเห็นว่าใช้ไม่ได้ หรือไปต่อไม่ไหว ก็ต้องล้างไพ่ด้วยการยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไปเลือกตั้งใหม่ มิใช่ฝืนตั้งคนที่ไม่ใช่เข้ามาทำความเสียหายให้บ้านเมืองเพิ่มเติม

แต่เมื่อแต่ละท่านได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำงานแล้ว ควรตอบพวกเราให้ได้ว่า ท่านมีความสามารถ มีพลัง และมีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่แต่ละด้านได้ดีแค่ไหน เรื่องนี้ไม่ใช่ความอยากจะเป็น แต่เป็นเรื่องของการที่เป็นแล้วจะมีความสามารถทำในสิ่งที่ดี ที่ถูกต้องเพื่อส่วนรวมของประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

การเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจครั้งนี้ ไม่ขอตั้งความหวังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้สอดรับกับอนาคตแล้ว แต่ขอมองสั้นๆ เพียง 1-3 ปีให้ไปรอดก่อน เพราะถ้าไปไม่รอด การฝันยาวไปก็เสียเวลา ดังนั้น ขอให้ได้ทีมเศรษฐกิจที่เข้าใจภาพรวมทางเศรษฐกิจ ปัญหาพื้นฐานและศักยภาพปัจจุบันของภาครัฐ ธุรกิจ และภาคครัวเรือน

ขอให้เป็น “ทีมเศรษฐกิจ” ที่เข้าใจปากท้องของคนตัวเล็ก ทั้งภาคเอกชน ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) และภาคครัวเรือน และเตรียมการรองรับภาระหนี้สินในอนาคตที่จะเกิดจากนโยบายแก้ปัญหาปากท้องในช่วงสั้น และขอให้เข้าใจว่ากลุ่มคนเกษียณกำลังมีปัญหาทางการเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ย ซึ่งจะต่อเนื่องไปอีกหลายปี ทำให้เงินรองรับการเกษียณไม่พอใช้ คนกลุ่มนี้น่าจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ไหว

นอกจากนี้ ขอให้ได้ทีมที่เข้าใจตลาดทุนว่าสำคัญไม่แพ้ตลาดเงิน ทั้งขนาดและศักยภาพที่เอื้อต่อรัฐและเอกชนในการระดมทุน แทนที่จะไปกู้แบบเดิมๆ ซึ่งรัฐบาลอาจกู้เงินเพิ่มด้วยการออกพันธบัตรไม่ไหว เพราะหนี้ภาครัฐ หลังผ่านงบประมาณน่าจะใกล้ขีดจำกัดทั้ง 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งตรงนี้ตลาดทุนช่วยได้

ส่วนสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเร่งด่วนคือ ความสงบทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะนี้ การมีเรื่องแทรกซ้อนเข้ามาในยามยากจะทวีปัญหาบ้านเมือง รัฐบาลต้องเปิดพื้นที่ให้คนประท้วงเข้าร่วมหารือกับรัฐด้วยความจริงใจทั้ง 2 ฝ่าย จะได้แยกปลาออกจากน้ำได้ถูกต้อง ไม่เหมารวมว่าเป็นปลาประเภทเดียวกันไปหมด

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ขณะนี้สถานการณ์ของไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การทำธุรกิจของเอกชน และเศรษฐกิจไทย เป็นภาระหนักของรัฐบาลจะแก้ไข การปรับเปลี่ยนสรรหาคณะรัฐมนตรีใหม่ โดยเฉพาะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไม่น่าจะมาจากโควตาพรรคการเมือง แต่น่าจะสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ยอมเสียสละประโยชน์ตนเองเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

“นักการเมืองต้องสละประโยชน์ของพรรค และพวกพ้อง เพราะสถานการณ์ขณะนี้แย่มาก โควิด-19 ยังไม่จบ ไม่รู้จะ ระบาดระลอก 2 หรือไม่ เศรษฐกิจมีปัญหารุมเร้ามากมาย ถ้าไม่เสียสละก็แก้ปัญหาไม่ได้ มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่ง และเสียสละเพื่อบ้านเมืองจริงๆ เพราะท่านเข้าใจสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างดี”

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ไม่ปกตินี้ รัฐบาลจะแก้ปัญหาเหมือนเดิม แต่ละกระทรวงแก้ไขกันเองไม่ได้อีกแล้ว จึงเสนอให้ตั้ง “ศูนย์บริหารการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” เช่นเดียวกับ “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” (ศบค.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งการสูงสุด เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล

เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้แรงมาก เพราะกระทบทั้งโลก และต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาโควิด-19 ขอ ศบค.พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่า ลำพังรัฐบาลและข้าราชการไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็เช่นเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจมีหลาย sector ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก-นำเข้า การบริโภคในประเทศ การลงทุน คนตกงาน ฯลฯ จำเป็นต้องดึงผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละ sector เข้ามาร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ในทุกสาขาไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่จะโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น

“อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยเร็ว ไม่ต้องพูดถึงการแก้ปัญหาแบบ Quick Win หรือแก้เรื่องไหนได้ก่อนก็ทำ เพราะทุกเรื่องมีปัญหาหมด ถ้าอยากให้เศรษฐกิจเดิน ต้องเปิดให้แต่ละคนมีส่วนร่วม โดยให้ศูนย์บริหารฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระจายโจทย์การแก้ปัญหา แล้วใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการ ซึ่งจะเกิดความกระตือรือร้นทั้งประเทศ”

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“ทีมเศรษฐกิจ ครม.ประยุทธ์ 2/2 จะประกอบไปด้วยใครบ้าง ส.อ.ท.ไม่ติดใจที่มาที่ไป เพราะเชื่อมั่นว่านายกฯได้กำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว และไม่ว่าบุคคลใดจะมาเป็นรัฐมนตรี คนใหม่ในทีมเศรษฐกิจ เอกชนคงไม่ก้าวล่วงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับกระทรวงที่จะเข้าไปรับตำแหน่ง และต้องทำงานได้ทันที”

เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากโควิด-19 ไม่สามารถรอให้รัฐมนตรีคนใหม่มาศึกษางานเหมือนที่ผ่านๆมาได้อีกแล้ว ที่สำคัญผมอยากเห็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่รู้เรื่องเศรษฐกิจจริงๆ เพื่อมองให้เห็นภาพรวมในการวางแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาในขณะนี้ให้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด

ส่วนสิ่งที่ ส.อ.ท.ต้องการคือ ทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่ และทีมเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ทั้งกระทรวงเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ต้องปรับปรุงการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลรับไปพิจารณา และควรทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ในทุกๆเรื่องเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาด

สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ ส.อ.ท.อยากเห็นรัฐบาลดำเนินการทันทีคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายการบริโภคของประชาชน เพราะเราคงหวังพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการส่งออกใน 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ไม่ได้แน่นอน และหากเป็นไปได้รัฐบาลควรมีมาตรการคลายล็อกดาวน์ประเทศเพิ่มเติม หลังจากที่คลายล็อกดาวน์ระยะที่ 6 ไปแล้ว ในประเด็นที่ดำเนินการได้

ขณะเดียวกัน อยากฝากการบ้านให้ทีมเศรษฐกิจรับไว้พิจารณา อาทิ สนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วให้มากกว่านี้ ใช้นโยบายเมดอินไทยแลนด์ ผลักดันให้คนไทยใช้สินค้าที่ผลิตได้จากในประเทศ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ควรใช้สินค้าที่ผลิตได้จากเอสเอ็มอี หรือผู้ผลิตในประเทศ ในสัดส่วน 30% ของการจัดซื้อจัดจ้าง เร่งแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน เป็นต้น

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

“ทีมเศรษฐกิจหลังการปรับ ครม. คิดว่าไม่น่าจะมีประเด็น เพราะทุกท่านล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และประสบการณ์ในด้านเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆของประเทศมาเป็นเวลายาวนาน ซึ่งทำให้ไว้วางใจได้ว่าน่าจะสามารถนำพาเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นปัญหา และความยากลำบากในช่วงเวลานี้ไปได้”

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ แม้รัฐบาลทยอยคลายล็อกมาจนถึงเฟสที่ 6 แล้ว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก อาจใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะกลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ประเด็นเร่งด่วนที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลหลังการปรับ ครม. ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะรายได้ของประชาชน ที่มาจากแรงงานส่วนหนึ่งไม่สามารถหางานทำ หรือมีรายได้ไม่พอเพียงต่อการดำรงชีพ

ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ ทำให้ทางการอาจจะต้องพิจารณาว่า ยังจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับประชาชนที่ยังมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจนี้หรือไม่ หากจำเป็น คงต้องออกแบบโครงการช่วยเหลือภายใต้กรอบด้านการคลังของประเทศที่มีข้อจำกัดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ซึ่งยังมีผู้ประกอบการระดับรากหญ้า รวมไปถึงเอสเอ็มอีบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ขาดสภาพคล่อง ซึ่งอาจนำไปสู่การปิดกิจการและการว่างงานเพิ่มขึ้น

“ทางการอาจพิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ธุรกิจฐานราก โดยกำหนดทั้งขนาดวงเงิน และขั้นตอนการดำเนินการให้เหมาะสมกับภาระทางการคลัง และความเสี่ยงของการช่วยเหลือที่สามารถบริหารจัดการได้”

อีกทั้งยังมีประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ที่ถูกกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ จนอาจนำมาสู่การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตในระยะข้างหน้าได้ ขณะเดียวกันโควิด-19 ยังสร้างความผันผวนแก่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และกระทบต่อค่าเงินบาท โดยประเด็นเหล่านี้ นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้ และระยะต่อไป

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน)

ในวันที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติ เชื่อว่าทุกฝ่ายมีความตั้งใจที่จะช่วยกันทำให้สถานการณ์ดีขึ้น “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลคือ ตัวแปรหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ที่จะเข้ามาทำงานในทีมเศรษฐกิจชุดใหม่มีภาระหน้าที่ที่ท้าทายรออยู่มาก

“ในฐานะภาคเอกชน อยากให้ใครก็ตามที่จะเข้ามารับหน้าที่นี้ต่อจากทีมชุดเก่า ต้องคำนึงถึงการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับประเทศชาติ”

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนต้องมาเป็นอันดับแรก ในเฟสแรกของการฟื้นฟู จากนั้นก็ลงไปที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนตัวเชื่อว่าภาครัฐทราบดีว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมาก

“เชื่อว่าภาครัฐคงมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับมหภาคมากยิ่งขึ้น แต่วันนี้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนคนไทยยังอยู่ใน Stage แรกที่ต้องรีบได้รับการสนับสนุนมากที่สุด”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ