ส.อ.ท.คาดแม้โควิด–19 ในไทยจะคลี่คลาย แต่ทั่วโลกยังติดสูงมาก ทำให้คาดแรงงานไทยยังมีแนวโน้มตกงานต่อ หลังคลายล็อกดาวน์ โดยคนว่างงานอาจแตะ 8 ล้านคนในปีนี้ จี้รัฐบาลหาทางรอดลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% จ้างรายชั่วโมง ชี้ธุรกิจขายส่ง–ปลีก การผลิต โรงแรมเสี่ยงตกงานสูงสุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย.ปรับตัวดีขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ 80.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากปัจจัยบวก จากการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระยะที่ 3 และ 4 รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 90.1 ลดลงจากระดับ 91.5 เพราะยังกังวลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังสูงอยู่
นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงานโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยเพิ่มเติมถึง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อภาคแรงงานจนถึงปัจจุบันว่า ได้ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในระบบที่มีการจ้างงาน แบ่งเป็นหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ ต.ค.2562-ก.ค.2563 ที่ผ่านมารวมจำนวน 4,458 แห่ง ส่งผลให้แรงงานตกงานในขณะนี้รวม 896,330 คน ลูกจ้างที่ว่างงานจากกรณีลาออก และการเลิกจ้างจากการปิดกิจการของนายจ้าง 332,060 คน เป็นต้น รวมทั้ง มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอีก 1.36 ล้านคน และคาดว่า กรณีดังกล่าวจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในระหว่างเดือน ส.ค.-ต.ค.อีก 800,000 คน
ทั้งนี้ แม้ว่าโควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้วในขณะนี้ แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้แรงงานในระบบมีโอกาสตกงานถึง 8 ล้านคนในปีนี้ จากที่หลายๆสำนักคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ แต่อย่างไร ก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จึงต้องมาดูเศรษฐกิจภาพรวม และนักท่องเที่ยวจะเข้ามาในประเทศไทยได้เมื่อใด
“ผมได้สอบถามสมาชิก ส.อ.ท.ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรมได้ปรับตัวรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง หลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจหันมาดำเนินการปกติ คิดเป็น 37.5% จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และยังคงมีการจ้างแรงงานปกติ 23.21% ส่วนการเลิกจ้างอยู่ที่ 7.14% เป็นต้น โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 66.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีงานทำ 37.3 ล้านคน ผู้ว่างงาน 390,000 คน และผู้รอฤดูกาล 490,000 ล้านคน โดยคาดว่า ธุรกิจในภาคการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด”
สำหรับการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 6 ที่รัฐบาลจะอนุญาตให้ต่างชาติ 4 กลุ่มเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้ดูจากมาตรการที่ออกมาแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เคยดำเนินการอยู่แล้ว และถือเป็นนโยบายที่ดีแต่ขั้นตอนปฏิบัติก็ต้องออกมาให้เร็ว
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ส.อ.ท.ยังขอเสนอแนวทาง เช่น ขอให้ลดเงินสมทบประกันสังคม ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% ให้มีผลไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.นี้ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน ขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากที่สิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้ เร่งพิจารณาการอนุมัติให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังขอให้ปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เหลือ 0.01% โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี และจัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง.