หนังสือชี้แจง การดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีสุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตในประเทศ ของ กรมสรรพสามิต โดยอธิบดี พชร อนันตศิลป์ ถึงความจำเป็นในการดำเนินโครงการนี้ต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลจาก การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว กรมสรรพสามิตจึงยังไม่มีนโยบายในการปรับเพิ่มประเภทของการจัดเก็บภาษีใหม่ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้ได้เม็ดเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลดการรั่วไหลสามารถหารายได้เข้ามาเสริมฐานะทางการคลังของประเทศ
เนื่องจากสภาพปัญหาและประสิทธิภาพการทำงาน และความรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นจากรูปแบบการจัดเก็บในรูปแบบเดิมที่ปัจจุบันมีการใช้ระบบมาตรวัดและคอมพิวเตอร์มาใช้ในการควบคุมเป็นการคำนวณปริมาณการจ่ายน้ำเบียร์ระหว่างถังพักกับเครื่องบรรจุภาชนะเท่านั้น เป็นการตรวจสอบปริมาณการจ่ายน้ำเบียร์ ไม่ใช่การตรวจสอบปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่แท้จริง ซึ่งระบบดังกล่าวใช้มาเกินกว่า 36 ปี กรมสรรพสามิตจึงได้นำระบบการพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์มาใช้ เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ามีการเสียภาษีอย่างถูกต้องแล้ว
ระบบเดิม ลงทุนไปแล้วกว่า 200-300 ล้านบาท มีค่าบำรุงระบบไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี แต่เมื่อนำสินค้าออกสู่ตลาดแล้วไม่สามารถตรวจสอบว่าสินค้าดังกล่าวเสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ ระบบใหม่การพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ใช้วงเงินไม่เกิน 1,350 ล้านบาทต่อปีเป็นระยะเวลา 7 ปี และคาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8-10 ต่อปี จากยอดปกติที่เก็บได้ประมาณ 80,000-90,000 ต่อปี ลดปริมาณการทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อป
ทีนี้บังเอิญว่า เรื่องนี้ได้มีหนังสือร้องเรียนถึง นายกฯ รมว.คลัง ปลัดคลัง และ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารจัดเก็บภาษีเบียร์ดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับการที่ กรมสรรพสามิต จะต้องนำเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งรวมทั้งโครงการแล้วประมาณ 8 พันกว่าล้านบาทไปใช้เป็นการสิ้นเปลืองเงินอย่างมหาศาลในสภาวะปัจจุบัน
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวมีผู้สนใจที่เข้ามาดำเนินโครงการจำนวน 11 ราย แต่มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิคเพียง 2 ราย ในวงเงินของงบค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่นจำนวน 8,032,500,000 บาท ในอัตราราคากลางต่อหน่วยของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บภาษี 28 สตางค์ต่อดวง ราคาที่บริษัทชนะการประกวดราคาเสนอคือ 25 สตางค์ต่อดวง แต่เมื่อเทียบกับราคาพิมพ์แสตมป์ที่เคยใช้ในการควบคุมการจัดเก็บภาษีที่เลิกใช้ไปแล้วจะอยู่ที่ดวงละประมาณ 10 สตางค์เท่านั้น
หลังจากนั้นเปลี่ยนมาใช้การติดมิเตอร์ในสายพานผลิตเบียร์ราคาอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบนี้ประมาณ 40 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาปีละ 15 ล้านบาทใช้มาจนถึงปัจจุบัน เทียบอัตราค่าใช้จ่ายต่อภาชนะไม่เกิน 1 สตางค์ ซึ่งถูกมากและเป็นมาตรฐานสากล ระบบนี้ลิงก์กับข้อมูลกรมสรรพสามิตตรวจสอบย้อนหลังได้ นอกจากนี้ด้วยนวัตกรรมของกรมสรรพสามิตเองที่เคยนำมาทดลองใช้การยิงโค้ดใส่ภาชนะค่าระบบอุปกรณ์ไม่เกิน 100 ล้านบาท ค่าบำรุงรักษาไม่เกิน 20 ล้านต่อปี ค่าใช้จ่ายต่อหน่วยไม่เกิน 2 สตางค์ ด้วยหลักการเดียวกันคือรักษาผลประโยชน์ของประเทศ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th