SCB CIO เผยพัฒนายาต้านโควิด-19 ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น แนะจับตาระบาดรอบ 2

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

SCB CIO เผยพัฒนายาต้านโควิด-19 ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น แนะจับตาระบาดรอบ 2

Date Time: 14 ก.ค. 2563 15:22 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • SCB CIO เผยความคืบหน้าการพัฒนายาต้านไวรัสโควิด-19 ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น คาดสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน แนะจับตาโควิด-19 ระลอก 2

Latest


SCB CIO เผยความคืบหน้าการพัฒนายาต้านไวรัสโควิด-19 ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น คาดสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน แนะจับตาโควิด-19 ระลอก 2

SCB Chief Investment Office (SCB CIO) เผยบทวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน กรณีความคืบหน้าการพัฒนายาต้านไวรัสส่งผลบวกต่อตลาดหุ้น ท่ามกลางความกังวล "โควิด-19" ระบาดรอบ 2 ในสหรัฐฯ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมาณวันที่ 6-10 กรกฎาคม 2563 พบว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปิดบวก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี เช่น ดัชนี ISM ภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตร

นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัส หลัง Gilead ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาของสหรัฐฯ เปิดเผยผลการทดลองพบว่า ยา remdesivir สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ได้ถึง 62% เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน

ขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวกเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรป หลังคณะกรรมาธิการยุโรปปรับลดคาดการณ์ GDP ยุโรป โดยคาดว่าจะหดตัวลง 8.3% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ในเดือน พฤษภาคม 2563 ว่าจะหดตัว 7.4%

สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และความเชื่อมั่นว่า กรุงปักกิ่งจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองได้ ประกอบกับสื่อของทางการจีนได้เผยแพร่บทบรรณาธิการและบทความที่กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นเพื่อสนับสนุนตลาดภายในประเทศ

ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง หลังนักลงทุนจับตาปัจจัยการเมืองในประเทศ เรื่องการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่า สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 5.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล

มุมมองในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น โดยในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกอบกับ การพัฒนาวัคซีน และยาต้านไวรัสมีความคืบหน้ามากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้หลายรัฐต้องกลับมากำหนดดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ (lockdown) อีกครั้ง อาจส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ หลังทางการจีนประกาศใช้มาตรการเดียวกับสถาบันและบุคคลในสหรัฐฯ ที่ประพฤติผิดในเรื่องเกี่ยวกับเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เพื่อตอบโต้ทางการสหรัฐฯ

ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอีกครั้ง และนักลงทุนติดตามการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น และเคลื่อนไหวผันผวน ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะที่ นักลงทุนรอติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 ของกลุ่มธนาคาร

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ในสหรัฐฯ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการทยอยกลับมาดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

- การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส (15 กรกฎาคม) โดยจะมีการหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนนี้

- ผลการประชุม BoJ (15 ก.ค.) คาดว่า BoJ จะคงนโยบายการเงิน เพื่อรอประเมินผลกระทบของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาก่อน แต่อาจส่งสัญญาณเพิ่มวงเงินกู้ให้ภาคธุรกิจเพิ่มเติม หากจำเป็น หลังญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกสอง และประสบปัญหาน้ำท่วมที่เกาะคิวชู นอกจากนี้ BoJ อาจมีแนวโน้มคาดการณ์ GDP ในปีงบประมาณปัจจุบัน จะหดตัวอย่างมาก ขณะที่ มองว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวในเป็นบวกในปีงบประมาณถัดไป

- ผลการประชุม ECB (16 ก.ค.) คาดว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิม และคงการเข้าซื้อสินทรัพย์ในโครงการ PEPP ตามเดิม หลังจากที่ปรับเพิ่มการเข้าซื้อในการประชุมเดือนก่อนหน้า 6 แสนล้านยูโร สู่ระดับ 1.35 ล้านล้านยูโร เพื่อรอดูประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปแล้วก่อนหน้านี้

- การประชุม EU Summit (17-18 ก.ค.) โดยคาดว่า ผู้นำทั้ง 27 ประเทศ จะหารือเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร ในส่วนของรายละเอียดและสัดส่วนความช่วยเหลือที่แต่ละประเทศจะได้รับให้มีความชัดเจนมากขึ้น

- การทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 โดยในสัปดาห์นี้จะเริ่มด้วยกลุ่มการเงิน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Refinitiv บ่งชี้ว่า ผลกำไรรวมของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในดัชนี S&P500 จะลดลงมากกว่า 40%

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

- ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี สหรัฐฯ และจีน, รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของ Fed 12 เขต (Beige Book) ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ยอดค้าปลีก ยอดขออนุญาตก่อสร้าง และยอดการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐฯ, GDP ใน 2Q2020 การส่งออก นำเข้า ดุลการค้า ยอดค้าปลีก และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน

เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2, การประชุม BoJ, การประชุมกลุ่มประเทศยูโรโซน, การประชุม ECB, การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต (JMMC) ของกลุ่มโอเปกพลัส และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ