โอสถทิพย์ฟื้นเศรษฐกิจ จับตา “ประยุทธ์” ชี้ขาด “ทราเวล บับเบิ้ล”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โอสถทิพย์ฟื้นเศรษฐกิจ จับตา “ประยุทธ์” ชี้ขาด “ทราเวล บับเบิ้ล”

Date Time: 14 ก.ค. 2563 07:45 น.

Summary

  • “พิพัฒน์” ย้ำชัด นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำ “ทราเวล บับเบิ้ล” หรือไม่ หนุนต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะหากปล่อยเศรษฐกิจประเทศตกลงไปลึกมากๆ สุดท้ายจะไปไม่รอด คาดสิ้นปีจะปิดโรงแรมมาก

Latest

เปิดคำตีความคณะกรรมการกฤษฎีกา “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ขาดคุณสมบัติ!

“พิพัฒน์” ย้ำชัด นายกรัฐมนตรีต้องเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำ “ทราเวล บับเบิ้ล” หรือไม่ หนุนต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะหากปล่อยเศรษฐกิจประเทศตกลงไปลึกมากๆ สุดท้ายจะไปไม่รอด คาดสิ้นปีจะปิดโรงแรมมากถึง 60% ขณะที่ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” พร้อมเปิดเฟส 2 แน่นอน

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า หากประเทศไทยยังไม่เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา หรือยังไม่สามารถเริ่มต้นมาตรการจับคู่ประเทศ ที่ควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 ได้ดีเพื่อทำการท่องเที่ยวแบบจำกัด หรือทราเวล บับเบิ้ล (Travel Bubble) จนถึงสิ้นปีนี้ โรงแรมในประเทศไทยจะต้องปิดตัวถาวรถึง 60% โดยคิดตามสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่หากตลอดปีนี้มีเพียง 40% โรงแรมในไทยก็อยู่รอดได้แค่ 40% ส่วนอีก 60% ไม่รอด จึงเป็นเหตุผลที่ต้องผลักดันมาตรการทราเวล บับเบิ้ล ให้เริ่มต้น อย่างช้าในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนกรณีที่ความเห็นของแต่ละหน่วยงานยังเห็นไม่ตรงกัน คนที่ต้องตัดสินใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะเอาเรื่องเศรษฐกิจ หรือความปลอดภัย

สำหรับกรณีที่ในพรรคภูมิใจไทย ที่มีรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข แต่กลับมีความเห็นไม่ตรงกันว่า ควรเริ่มต้นทำทราเวล บับเบิ้ล ตนมองว่าความเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เช่น บริษัทมีทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (ซีเอฟโอ) หากซีอีโอและซีเอฟโอเห็นไปทางเดียวกัน บริษัทก็น็อก ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นสวนทางกันตลอดเวลา เพื่อให้มีการบริหารทั้งรับและรุก เพราะถ้าเศรษฐกิจของประเทศตกลงไปลึกมากๆ สุดท้ายจะรอดหรือไม่ แต่ถ้ามีการพยุงรอการกลับมา ไม่ให้ตกลงไปลึกที่สุด อาจจะดีกว่า จึงเห็นว่าต้องเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาบ้าง

“ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 3.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่วนปีนี้ คงมีสัดส่วน 6-7% ของจีดีพีเท่านั้น ถ้าพยายามทำรายได้ท่องเที่ยวให้ได้ 1.23 ล้านล้านบาท แต่ลำพังแค่คนไทยเที่ยวในประเทศ สูงสุดตลอดทั้งปีนี้จะสร้างรายได้ 700,000 ล้านบาท เมื่อไปรวมกับรายได้สะสมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อต้นปี 310,000 ล้านบาท ทำให้มีรายได้รวม 1.01 ล้านล้านบาท ซึ่งการไปให้ถึง 1.23 ล้านล้านบาทได้ ต้องทำทราเวล บับเบิ้ล ในเดือน ก.ย.-ธ.ค. เพื่อสร้างรายได้ 200,000 ล้านบาท”

ขณะที่การสร้างความปลอดภัยให้มากที่สุด สำหรับทราเวล บับเบิ้ล โดยการบินเข้าประเทศไทยต้องเป็นเครื่องบินเช่าเหมาลำ ถ้ามาต่อสายการบินในประเทศ ก็ต้องเหมาลำ และจำกัดอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่กำหนด เช่น อยู่ในเกาะภูเก็ต หรือถ้าเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็อยู่และข้ามไปมาได้เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน หรือจังหวัดกระบี่ เฉพาะเกาะพีพี โดยก่อนเข้ามาและเมื่อมาถึงไทยต้องตรวจโควิด-19 แต่หากอยู่ถึง 14 วันให้เดินทางไปจังหวัดอื่นๆได้เหมือนชาวต่างชาติที่อยู่ในไทย

“วันที่ 15 ก.ค.นี้ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ ส่วนลด 40% ที่พัก 5 ล้านคืน สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน จากนั้นประชาชนต้องรีบเข้าไปจองห้องพัก ซึ่งต้องจ่ายเงินทันที 60% ในตอนนั้นจะรู้ได้ว่ารัฐบาลต้องใช้เงินทั้งหมดเท่าไหร่ จากที่ตั้งวงเงินได้ 18,000 ล้านบาท คาดว่าใช้เพียง 50% เพราะคนส่วนใหญ่คงใช้สิทธิ์ไม่ถึง 3,000 บาทต่อคืน ขั้นต่อไปจะเสนอ คณะรัฐมนตรีให้ทำเฟสที่ 2 ทันที ส่วนตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านที่นั่ง คาดว่าไม่หมด เพราะส่วนใหญ่คนจะเที่ยวจังหวัดใกล้ๆ และขับรถเที่ยว ”

ขณะที่โครงการกำลังใจที่ให้อาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวม 1.2 ล้านคน เที่ยวกับบริษัททัวร์ อาจมีผู้เข้าร่วม 800,000 คน ก็อาจเพิ่มคนที่เป็นลูกจ้างของ รพ.สพ.ที่ปัจจุบันได้รับสิทธิ์ ให้เข้ามาร่วมโครงการนี้ ซึ่งเวลาเดินทางท่องเที่ยวต้องมีการตรวจสอบตัวตน เพื่อไม่ให้เกิดการสวมสิทธิ์ให้คนอื่นไปเที่ยวแทน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ