นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.63 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในพื้นที่ ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งที่มีการประกอบกิจการของเอสเอ็มอี 10,000 โรงงาน มีการจ้างงานจำนวนมาก โดยพบว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้เร่งปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเร่งด่วนรวม 41 ราย วงเงิน 62 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ได้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศไปแล้ว 431 ราย วงเงินรวม 565 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ค่ายรถยนต์ยุโรป เป็นห่วงแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เพราะเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมจริงจังนั้น ยืนยันว่ารัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยเฉพาะลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ล่าสุดบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติไต้หวัน ได้ลงทุนขยายโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่อีวี และสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับค่ายรถยนต์ทั่วโลก โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจ้างงานเพิ่มอีก 7% จากที่จ้างอยู่แล้ว 12,000 คน
ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลสำรวจสถานการณ์จ้างงานช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 และแนวทางการปรับการจ้างงานในอนาคตจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมตัวอย่างว่า ผลสำรวจการจ้างงานบริษัทขนาดย่อมมีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท แรงงานไม่เกิน 50 คน และบริษัทขนาดกลางรายได้ 100-500 ล้านบาท แรงงาน 51-200 คน พบว่าการจ้างงานลดลงกว่า 50% ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ รายได้มากกว่า 500 ล้านบาท แรงงานมากกว่า 200 คน ลดการจ้างงานลง 25% ประเมินว่าหลังโควิด-19 การจ้างงานบริษัทขนาดย่อมจะเพิ่มขึ้น 6.5% ขนาดกลาง 10.6% ขนาดใหญ่ 4.1%
สำหรับการปรับตัวการจ้างงานในอนาคต พบว่า ผู้ประกอบการลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเป็นอันดับ 1 ตามด้วยขึ้นค่าจ้างเพื่อให้ได้แรงงานที่มีทักษะหลากหลาย, ปรับรูปแบบการจ้างงานให้ยืดหยุ่น เช่น จ้างรายชั่วโมง, ลดการจ้างลูกจ้างประจำและใช้เอาต์ซอร์สแทน, เน้นตลาดออนไลน์ ปรับฐานเงินเดือน, การแชร์หรือแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างอุตสาหกรรม และลดการใช้แรงงานต่างด้าว.