โชว์ผลงานคลังยุค “อุตตม” เยียวยาผู้รับผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

โชว์ผลงานคลังยุค “อุตตม” เยียวยาผู้รับผลกระทบโควิด-19 เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 10 ก.ค. 2563 07:15 น.

Summary

  • “ธนกร” โชว์ 15 ผลงานกระทรวงคลังยุค “อุตตม” ลุยช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทุกกลุ่ม พร้อมเตรียมออกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

“ธนกร” โชว์ 15 ผลงานกระทรวงคลังยุค “อุตตม” ลุยช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทุกกลุ่ม พร้อมเตรียมออกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เข้ารับตำแหน่งจนถึง ปัจจุบันได้จัดทำนโยบายต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนมาแล้ว 15 โครงการสำคัญประกอบด้วย

1.โครงการเราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร รายละ 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน (เม.ย-มิ.ย.)

2.โครงการบ้านดีมีดาวน์ เพื่อลดภาระให้แก่ประชาชนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง โดยการสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาทต่อราย ทั้งหมดจำนวน 100,000 สิทธิ์ ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นการลงทุนใหม่ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์

3.โครงการชิมช้อปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมโครงการกว่า 12.6 ล้านราย และมีร้านค้าขนาดย่อยเข้าร่วมโครงการกว่า 170,000 ร้านค้า

4.มาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน

5.โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562-30 พ.ย.2565 เพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินประชาชน สถาบันการเงินชุมชน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม

6.การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

7.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟต์โลน (Soft Loan) ของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

8.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 8 ของ บสย. วงเงินค้ำประกันรวม 150,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ต้องการสินเชื่อจากสถาบันการเงิน แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

9.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ให้มีสภาพคล่องเพียงพอในการประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานต่อไปได้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

10.พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.BSF) ของ ธปท.วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการระดมทุน โดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้สามารถออกหุ้นกู้ต่อไปได้

11.พระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 โดยกำหนดลดภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างทุกประเภทลง 90% เป็นเวลา 1 ปีในปีนี้

12.มาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 เช่น การนำหักค่าใช้จ่ายจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศได้ 2 เท่าของรายจ่ายจริง ซึ่งเป็นรายจ่ายตั้งแต่ 1 ม.ค.63 ถึง 31 ธ.ค.63 เป็นต้น

13.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ระยะที่ 1 อาทิ การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

14.มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 อาทิ การเลื่อนเวลาชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเดิมสิ้นสุด 30 มิ.ย. เป็น 31 ส.ค.63 ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด-19 ถึง ก.ย.63 เป็นต้น

และ 15.มาตรการอื่นๆ อาทิ การยกเว้นอากรขาเข้ายาในกลุ่มยากำพร้า หรือยารักษาโรคที่พบได้น้อย หรือโรคร้ายแรง การยกเว้นอากรขาเข้ายาสูตรผสมที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น

“นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเดินหน้าออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งขณะนี้นายอุตตม รมว.คลัง ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำแผนดำเนินการแล้ว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ