ซีพีทีพีพี-ฟังเสียงทุกฝ่าย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ซีพีทีพีพี-ฟังเสียงทุกฝ่าย

Date Time: 10 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • ขณะนี้ประเทศไทยกำลังศึกษาและพิจารณาอยู่ว่าจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าเสรีใหม่ ที่มีชื่อค่อนข้างยาวว่า “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)”

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังศึกษาและพิจารณาอยู่ว่าจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าเสรีใหม่ ที่มีชื่อค่อนข้างยาวว่า “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)” หรือไม่ เรื่องอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและต้องขอขยายเวลา

ซีพีทีพีพีเป็นองค์กรการค้าเสรีใหม่ล่าสุด มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ เม็กซิโก ญี่ปุ่นสิงคโปร์ เวียดนาม และสมาชิกที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน 4 ประเทศ ได้แก่ เปรู ชิลีบรูไน และมาเลเซีย มีรายงานข่าวว่ารองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผลักดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกโดยเร็วแต่ยังไม่สำเร็จ

เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากองค์กรภาคประชาชนชี้ว่า ถ้าเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ประเทศไทยจะเสียเปรียบในด้านการเกษตร การสาธารณสุข และอื่นๆ สภาผู้แทนราษฎรจึงรับศึกษาในรายละเอียดทั้งหมด และตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาถึง 3 คณะ แม้จะเห็นว่าไทยควรเข้าเป็นสมาชิก แต่จะสมัครไม่ทันในวันที่ 5 สิงหาคม

ในขณะที่ภาครัฐยังมีความเห็นต่างจะเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีหรือไม่ และยังต้องใช้เวลาศึกษาอีกนาน แต่องค์กรธุรกิจภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนสามสถาบัน ได้เร่งรัดให้ภาครัฐรีบตัดสินใจ และสร้างความชัดเจนว่าจะเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ เพราะถ้าจะเข้าเป็นสมาชิกก็จะต้องใช้เวลาหลายปีในการเจรจาตกลง

ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในคณะกรรมการร่วมสามสถาบัน ให้สัมภาษณ์สื่อว่า จากการหารือกับนักลงทุนของหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย ฝ่ายญี่ปุ่นสนับสนุนไทยให้เข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี บอกว่า ที่ผ่านมาญี่ปุ่นถือว่าไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนของตนในอาเซียน แต่เมื่อเวียดนามเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีจึงเปลี่ยนไป

นั่นก็คือมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ต้องการใช้เวียดนามเป็นศูนย์กลาง ในการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนมากกว่าประเทศไทย เนื่องจากเวียดนามเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ยิ่งกว่านั้นเวียดนามยังทำความตกลงเรื่องการค้ากับ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ขณะที่อียูระงับการเจรจากับไทยหลังจากเกิดรัฐประหาร 2557

แต่การที่ไทยจะตัดสินใจเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีหรือไม่ ต้องพิจารณาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ไม่ใช่ตัดสินใจเพราะเรื่องญี่ปุ่นกับเวียดนาม นอกจาก กมธ.ของสภาจะศึกษาอย่างรอบคอบแล้ว ควรจะรับฟังความคิดเห็นคนไทยที่มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่ต้องไม่ให้เสียเวลามากเกินไป จนประเทศสูญเสียโอกาส.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ