ครม.อนุมัติหลักการใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ระยะที่ 1 รวม 186 โครงการ วงเงิน 92,400 ล้านบาท โดยเห็นชอบให้เบิกจ่ายเงินได้ก่อน 5 โครงการ วงเงิน 15,520 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาครบถ้วนทันนำเสนอ ครม.เท่านี้ “ประยุทธ์” ย้ำเริ่มช่วยเกษตรกร และผู้เดือดร้อนก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการ โครงการในระยะที่ 1 ในเรื่องของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากผลกระทบของโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท จากที่มีกรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทโดยระยะแรกจะเน้นหนักด้านการเกษตร และส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน สำหรับนักธุรกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะทยอยมีมาตรการออกมา ในการช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยรัฐบาลต้องหามาตรการที่เหมาะสม ด้วยความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย ตลอดจนกลไกของรัฐ หรือกลไกต่างๆ กองทุนต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสม
สำหรับระยะที่ 2 มีอีก 300,000 ล้านบาท จะนำมาทยอยเสนอ ครม.ต่อไป สิ่งสำคัญสุดคือต้องทำให้เกิดการจ้างงาน เนื่องจากบางธุรกิจ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการจากต่างประเทศ โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องระมัดระวังการตรวจสอบจากภาคประชาชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.)ด้วย
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบโครงการและวงเงินภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาทในรอบที่ 1 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยในรอบแรกนี้อนุมัติหลักการ 186 โครงการ กรอบวงเงิน 92,400 ล้านบาทแบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 111 โครงการ วงเงิน 51,328.68 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 83 โครงการ วงเงิน 20,340.43 ล้านบาท และโครงการแผนงานกระตุ้นการอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 2 โครงการ วงเงิน 22,400 ล้านบาท
“ครม.อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินให้กับ 5 โครงการที่มีการเสนอเข้ามาในวันที่ 8 ก.ค.นี้ก่อน ที่เน้นเรื่องการจ้างงาน สร้างอาชีพ และให้ความรู้ประชาชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก วงเงินรวม 15,520.096 ล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯพิจารณามาทันเข้า ครม.เท่านี้ ส่วนโครงการที่เหลือจะนำเข้า ครม.ในสัปดาห์ต่อไป”
ทั้งนี้ 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่ม เกษตรทฤษฎีใหม่ เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,805 ล้านบาท เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 44,099รายเพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 8,018 ราย 2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” เสนอโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,787 ล้านบาท จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชน 25,179 ครัวเรือน/เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,492 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 25,759 ไร่
3.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย เพื่อชุมชน เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169.88 ล้านบาท จะเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและ ปุ๋ยเพื่อชุมชน 2,364 คน/ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆไม่น้อยกว่า 20%หรือ 18,000 ตัน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 253 ล้านบาท 4.โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับ นักท่องเที่ยว (safety zone) เสนอโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท ดำเนินการ 5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสน จ.ชลบุรี เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ และเยาวราช มีเป้าหมายสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก
5.โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า เสนอโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วงเงินรวม 741.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของอุทยานแห่งชาติ ช่วยจ้างงานในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน โดยพัฒนาให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสร้างผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่นจำนวน 125 ราย.