นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้จัดทำคาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยว ภายในประเทศของชาวไทย ช่วงวันหยุดยาวเนื่องใน วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ปีนี้ระหว่าง วันที่ 4-7 ก.ค. ซึ่ง คาดว่าจะมีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทาง 1.42 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างต่ำกว่าในสถานการณ์ปกติที่มีผู้เยี่ยมเยือนเดินทางท่องเที่ยว 2 ล้านคน-ครั้งขึ้นไป ในช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง 4 วันเช่นเดียวกัน และมีการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียน 4,660 ล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น กรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 14% มีผู้เยี่ยมเยือน 106,000 คนรายได้หมุนเวียน 1,188 ล้านบาท ภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 38% มีผู้เยี่ยมเยือน 540,000 คน รายได้หมุนเวียน 1,110 ล้านบาท ภาคตะวันออก มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 28% มีผู้เยี่ยมเยือน 263,000 คน รายได้หมุนเวียน 759 ล้านบาท ภาคใต้ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 8% มีผู้เยี่ยมเยือน 155,000 คน รายได้หมุนเวียน 654 ล้านบาท ภาคเหนือ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 15% มีผู้เยี่ยมเยือน 146,000 คน รายได้หมุนเวียน 435 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 21% มีผู้เยี่ยมเยือน 212,000 คน รายได้หมุนเวียน 516 ล้านบาท
“บรรยากาศการเดินทาง ภายในประเทศ เริ่มผ่อนคลายและมีการออกเดินทางท่องเที่ยวให้เห็นชัดขึ้น หลังจากที่หยุดชะงักไป 2 เดือน จากโควิด-19 แต่อาจยังไม่คึกคักมากนัก แม้ว่าวันเข้าพรรษาปีนี้มีวันหยุดยาว 4 วัน เพราะยังเป็นการเดินทางท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มครอบครัว ในระยะทางใกล้ๆ และเน้นเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยคาดว่าภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม"
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้และภาคเหนือ ได้รับความนิยมค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของพื้นที่ (Low Season) อีกทั้งเป็นฤดูฝนไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมทางทะเล ส่วนแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ กาญจนบุรี กรุงเทพฯ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ชลบุรี ระยอง ลพบุรี เพชรบุรี ฯลฯ และจากการวิเคราะห์การพูดคุยในสังคมออนไลน์ ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าไม่มีการพูดถึงการท่องเที่ยว ในช่วงวันหยุดที่ชัดเจน เนื่องจากต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ งดการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา การพูดคุยในสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ จึงเป็นการพูดถึงในเชิงพระพุทธศาสนา อาทิ เข้าพรรษา พุทธศาสนิกชน เทียนพรรษา ไหว้พระ ประเพณี ฯลฯ ขณะที่มีการอ้างถึงพื้นที่บ้างเล็กน้อย เช่น อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่”.