การที่คณะกรรมการบอร์ดการบินไทย ได้อนุมัติให้ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย มีนัยสำคัญก็คือ ต้องการเห็นแผนการฟื้นฟูการบินไทยที่เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
จะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย การที่ ชาญศิลป์ เคยนั่งบริหาร ปตท. ทำกำไรปีละเป็นหมื่นล้าน แล้วต้องมานั่งรับผิดชอบบริหารการบินไทย ที่ขาดทุนปีละเป็นหมื่นล้าน เป็นเหรียญคนละด้าน ที่ต้องพลิกตำราการบริหาร ชนิดตรงกันข้าม ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า ชาญศิลป์ เพียงคนเดียวจะแก้ปัญหาที่กองเป็นภูเขาของการบินไทยได้เพียงลำพัง
สิ่งที่จะต้องแก้ ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นเรื่องใหญ่กว่า การฟื้นฟูในอนาคต เพราะถ้าเริ่มต้นสำเร็จ การแก้ปัญหาในระยะกลางและระยะยาวก็จะเป็นไปตามขั้นตอนอย่างสะดวกราบรื่น
แผนฟื้นฟูกิจการที่จะระบุถึงแนวทางการบริหารธุรกิจทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้ ศาลล้มละลายกลางเห็นภาพว่า การบินไทย จะเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป
เช่นการวางแผนจัดการสินทรัพย์ที่ไม่คุ้มค่า การวางแผนจัดการหน่วยธุรกิจที่แข่งขันไม่ได้ อาจะต้องมีการร่วมทุนหรือการแปลงหนี้เป็นทุน จะมีการลดทุนหรือเพิ่มทุนต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ในเบื้องต้นคือ แยกของเสียออกให้เหลือแต่ของดีก่อน
ปัญหาที่เกิดจากหลายปัจจัยแวดล้อม ทั้งสภาพของการแข่งขัน ความร่วมมือ ผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ต้องไปในทิศทางเดียวกัน ร้องเพลงคีย์เดียวกัน
นอกจากนี้ การบินไทย ได้ตั้งที่ปรึกษาเอาไว้หลายด้าน เช่นด้านกฎหมาย มาจาก บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ด้านบัญชี มีที่ปรึกษาจาก บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ด้านการเงิน มีที่ปรึกษาจาก บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า รวมทั้งที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ที่จะเข้าร่วมในการจัดทำแผนฟื้นฟูต่อไป
อย่างน้อยก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในเบื้องต้น
ในส่วนเจ้าหนี้ เอง เช่นเจ้าหนี้หุ้นกู้ของกลุ่มสหกรณ์ หนี้การเช่าเครื่องบิน หนี้เงินกู้ธนาคาร หนี้น้ำมัน รวมไปถึงลูกค้าที่จองซื้อตั๋วล่วงหน้าเอาไว้ จะต้องหาแนวทางดำเนินการให้ถูกต้อง
ส่วน การบินไทย จะสามารถกลับมาเปิดทำการบินได้เมื่อไรอย่างไร ต้องรอประกาศเปิดน่านฟ้าระหว่างประเทศอีกครั้ง ซึ่งก็มีการเตรียมพร้อมเอาไว้ทุกด้านแล้ว
คำตอบจาก ชาญศิลป์ ดีดีคนใหม่ของการบินไทย เป็นการเริ่มก้าวแรกที่จะฟื้นฟู การบินไทยสายการบินแห่งชาติ ที่ทุกคนรอคำตอบว่า สภาพของการบินไทยหลังจากผ่านกระบวนการล้มละลาย จะมีการฟื้นฟูกิจการอย่างไร โดยเฉพาะ ถ้าการบินไทย ยังแหวกม่านประเพณีเก่าๆไม่ได้ พนักงานของการบินไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่ยุคของการแข่งขัน
ถ้าทุกคนไม่ยอมรับการเสียสละ หรือลดตัวลงมาบ้าง การบินไทยก็คงไม่สามารถที่จะกลับมาฟื้นฟูได้ ไม่ว่าจะใช้คนที่มีความรู้ความสามารถแค่ไหนมาฟื้นฟูก็ตาม ท้ายที่สุดการบินไทยก็คงตกเป็นสายการบินของชาติอื่น.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th